อิทธิฤทธิ์ของตัวเร่งทางเศรษฐกิจ
หลังจาก 24 ก.ค.67 รายชื่อของคนที่ขึ้นทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลได้ยืนยันว่าน่าจะมีจำนวนมากตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้คือ 35 ล้านคน
หลังจากวันที่ 24 กรกฎาคม เป็นต้นมา รายชื่อของคนที่ขึ้นทะเบียนรับเงินสดผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลได้ยืนยันว่าน่าจะมีจำนวนมากมายตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้คือ 35 ล้านคน
รายชื่อดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้เพื่อหว่านเงินสดหัวละ 10,000 บาท ที่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเศรษฐา
เงินดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์คือตัวเร่งทางเศรษฐกิจซึ่งสำนักเคนส์เซียนให้ความสำคัญเสมอมาแม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า เงิน 10,000 บาท ที่ออกมาให้ประชาชนนั้นใช้ได้เฉพาะจับจ่ายซื้อสินค้าเท่านั้นซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อพวกเจ้าสัวให้ได้ระบายสินค้าที่ค้างสต๊อกเนื่องจากประชาชนใกล้หมดกำลังซื้อ ไม่ได้ส่งเสริมการผลิตหรือการสร้างงานแต่อย่างใด เมื่อเงิน 10,000 บาท ถูกใช้หมดไปเศรษฐกิจก็จะกลับไปซบเซาเหมือนเดิม
ในมุมมองของพวกเคนส์เซียนนั้น นักวิจารณ์ดังกล่าวไม่อาจขัดขวางข้อเท็จจริงที่ว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐคือตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่ทรงพลังในยามที่กลไกทางเศรษฐกิจในยามปกติไม่ยอมทำงานเนื่องจากกำลังซื้อถดถอย การอัดฉีดเงินจากภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงจะทรงพลังอย่างยิ่ง
ตัวอย่างที่เป็นข้ออ้างเสมอมาคือโครงการนิวดีลของอเมริกาที่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี รูสเวลต์ นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1931 โดยผ่านโครงการ Food Stamp ที่กลายเป็นรากฐานประชานิยมของพรรคเดโมเครตมากระทั่งถึงปัจจุบัน
สำหรับเมืองไทยนั้นมีการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้อย่างกว้างขวางหลายครั้ง ที่โดดเด่นก็คือนโยบายเงินผันของรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช และนโยบายทักษิโณมิกส์ของพรรคไทยรักไทยและนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่นโยบายดังกล่าวก็สร้างเสียงวิจารณ์ตามมาว่าทำให้เกิดบรรยากาศการคอร์รัปชัน
ครั้งนี้รัฐบาลอ้างว่าการแจกเงินประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถป้องกันการคอร์รัปชันได้เพราะประชาชนได้รับเงินสดโดยตรงแม้จะไม่ได้สัมผัสเงิน แต่การที่รัฐบาลไม่ได้เอ่ยถึงการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่ความมั่งคั่งได้ตกอยู่ในกำมือของร้านค้าปลีกรายใหญ่ น่าจะเป็นคำถามที่ตามมาว่า จีดีพี ของการใช้เงินที่แจกจ่ายให้ประชาชนจะนำไปสู่การผูกขาดต่อความมั่งคั่งครั้งใหม่ของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากมายแค่ไหน
เรื่องนี้ยังเป็นคำถามที่รัฐบาลยังไม่ยอมตอบ ในขณะที่นักวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะมองเห็นตัวเลขเชิงบวกของการใช้ตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ จีดีพี ของประเทศไทยในไตรมาสที่สี่กลับมาบวกแรงชั่วคราว
วิษณุ โชลิตกุล