ครึ่งหลังปี 2567 กลุ่มแบงก์ยังถูกกดดัน
ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ของปี 2567 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จำนวน 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันเกือบ 6.3 หมื่นล้านบาท
เส้นทางนักลงทุน
- ครึ่งหลังปี 2567 กลุ่มแบงก์ยังถูกกดดัน
ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ของปี 2567 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จำนวน 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันเกือบ 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโตเพียง 2.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.27 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 3.69%
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงกดดันการปล่อยสินเชื่อ ท่ามกลางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยถูกกดดันจากภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นซบเซา ตลอดจนความกังวลจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่จะเพิ่มขึ้นจากคุณภาพของลูกหนี้อ่อนแอลง
ปัจจัยเหล่านี้มีการประเมินกันว่าน่าจะยังคงส่งผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2567 ทำให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบอยู่
นอกจากนี้ การที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จะส่งผลกดดันต่อเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 2567 นี้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้
- ครึ่งหลังปี 67 แบงก์ยังถูกกดดัน
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI มองว่ากลุ่มธนาคารพานิชย์ไทยยังเผชิญกับปัจจัยลบจากหนี้เสีย (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะมาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันเป็นหลัก
โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB น่าจะยังถูกกดดันจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2567 จากการยุติให้บริการแอปฯ Robinhood รวมถึงอัตราส่วน NPL ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค
ขณะที่ ธนาคารที่เน้นสินเชื่อรถ เช่น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ต้องรับมือกับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของสินเชื่อรถ อาจขาดทุนสูงจากการขายรถยึดและรายได้ค่าธรรมเนียมที่อาจไม่เติบโตในช่วงครึ่งปีหลังจนถึงปี 2568
กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีโอกาสด้านบวก หากการบริโภคภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้น การส่งออกขยายตัวดีขึ้น และจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็มีความเสี่ยงหากคุณภาพสินทรัพย์ลดลง
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ พาย เห็นว่าครึ่งปีหลังนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีความท้าทาย เนื่องจากสัญญาณ NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องควบคุมและคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้จากการให้สินเชื่อที่อาจเริ่มชะลอตัว ตามการให้สินเชื่อที่ยังชะลอตัวอยู่ เพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ และคาดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เริ่มทรงตัว
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ ระบุว่า ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของแต่ละธนาคารแตกต่างกันไป จากผลของโครงสร้างสินเชื่อที่แตกต่างกัน และการมุ่งเน้นธุรกิจที่ต่างกัน ทั้งนี้ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง และมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับกลุ่มเปราะบาง
- คัดหุ้นแบงก์แข็งแกร่ง H2/67
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ให้น้ำหนัก “Neutral” ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองว่ากลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่ง และมีปัจจัยลบจาก NPL ของกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่มีการประเมินมูลค่ากลุ่มอยู่ที่ P/BV เพียง 0.57 เท่า ในปี 2567 ต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี สะท้อนว่า ROE อยู่ในระดับต่ำเพียง 8.7-8.8% ในปี 2567-2569 เลือกหุ้นในกลุ่มที่น่าสนใจ คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ให้ราคาเป้าหมาย 183 บาท และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 178 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ พาย แนะนำหุ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เพราะจะได้รับประโยชน์จากสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐเข้ามาหนุนในครึ่งปีหลัง จากการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา รวมถึงได้รับประโยขน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วย
การตั้งสำรองฯ ของ KTB ในครึ่งหลังของปี 2567 จะลดลงหลังจากครึ่งปีแรก เพราะคุมคุณภาพสินทรัพย์ไปมาก ทำให้ NPL น่าจะเริ่มเห็นการทรงตัว ช่วยหนุนผลการดำเนินงาน อีกทั้งยังมี Valuation ที่ไม่แพง มีผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี ให้ราคาเป้าหมายที่ 20 บาท
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ ถือว่ายังมีความท้าทาย เพราะยังมีปัจจัยหลากหลายกดดันผลการการดำเนินงานอยู่