SCB ปันผลสูงตั้งสำรองเข้ม

SCB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.19% 2.ธุรกิจ SME 16.83% 3.สินเชื่อบุคคล 40.67%


คุณค่าบริษัท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.19% 2.ธุรกิจ SME 16.83% 3.สินเชื่อบุคคล 40.67% 4.สินเชื่อของบริษัทย่อย 7.30% ภายใต้สินเชื่อบุคคล 40.67% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.สินเชื่อเคหะ 31.80% 2.สินเชื่อเช่าซื้อ 6.77% 3.สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน 1.19% 4.สินเชื่ออื่น ๆ 0.91% ภายใต้สินเชื่อของบริษัทย่อย 7.30% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.บริษัท คาร์ด เอกซ์ 4.21% 2.บริษัท ออโต้ เอกซ์ 1.95% 3.บริษัทย่อยอื่น ๆ 1.14%

SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 10,014.33 ล้านบาท ลดลง 15.62% จากไตรมาส 2/2566 และลดลง 11.23% จากไตรมาส 1/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 11,281.02 ล้านบาท กำไรไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดอยู่ 6% กำไรที่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 1/2567 เกิดจากค่าใช้จ่ายสำรองหนีสูญ (credit cost) ที่สงขึ้นมาที่ 1.90% จาก 1.67% ในไตรมาส 1/2567 ส่วนกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 2/2566 เกิดจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่ลดลง

ปัจจัยกดดันมาจาก 1.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 2.6% จากไตรมาส 1/2567 หลังมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood จำนวน 797 ล้านบาท ทำให้ Cost to Income Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 42.9% จาก 42.1% ในไตรมาส 1/2567 และ 2.การตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 1/2567 หลังตั้งสำรองพิเศษ (Management Overlay) เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจรายหนึ่ง (ตั้งสำรองบางส่วนตามความเหมาะสม)

บวกกับหนี้เสียในกลุ่มรายย่อยเพิ่มมากขึ้น (สินเชื่อบ้าน, สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต) แต่ในภาพรวมยังคุม NPL Ratio ได้ดีที่ 3.9% ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2567 และมีสัดส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 156.6% จาก 155.2% ในไตรมาส 1/2567 และ 3.รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 5% จากไตรมาส 1/2567 หลังค่าธรรมเนียมธนาคาร, ค่าธรรมเนียม Wealth Management และค่าธรรมเนียมนายหน้าขายประกันที่ลดลง

ส่วนที่ SCB ทำผลงานได้ดี คือรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 2.6% จากไตรมาส 1/2567 สวนทางกับที่คาดว่าจะลดลง แม้สินเชื่อรวมจะลดลง 0.4% จากไตรมาส 1/2567 แต่ NIM ปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.1% จาก 3.9% ในไตรมาส 1/2567 สอดคล้องกับสัดส่วนสินเชื่อของธุรกิจ Consumer Finance ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ AutoX

กรณีบริษัทใหญ่ในกลุ่มพลังงานทดแทนที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ผู้บริหารระบุว่า SCB ปล่อยสินเชื่อให้บริษัทดังกล่าว 1.2 หมื่นล้านบาท แต่มีเพียง 500 ล้านบาท ที่เป็น Unsecured ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อ Project Finance ซึ่งมีหลักประกันเป็นกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้า ทำให้มองว่าความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ SCB เพิ่มความระมัดระวังในลูกหนี้ดังกล่าว โดยปรับชั้นหนี้ลงมาเป็น Stage 2 และตั้งสำรองเพิ่มบางส่วนในระดับที่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบันราว 800 ล้านบาท

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ SCB ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 173,436.38 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 42,027.19 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 111.76 บาท จาก 20 โบรกเกอร์

บล.กสิกรไทย ปรับประมาณการกำไรปี 2567-2569 ขึ้นเล็กน้อยที่ 2.4%/2.6%/1.9% มาเป็น 4.097 หมื่นล้านบาท/4.34 หมื่นล้านบาท/4.63 หมื่นล้านบาท เพื่อสะท้อนอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลงจากการควบคุมต้นทุนที่ดี และการไม่มีค่าใช้จ่ายจาก Purple Ventures ตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 เป็นต้นไป และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น 0.09% ถึง 0.12% ด้านบล.หยวนต้า คาดทั้งปี 2567 SCB จะมีกำไรสุทธิ 44,475 ล้านบาท โต 2.2% จากปี 2566 และคาดให้ Div. Yield ที่ 9%

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SCB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 30 ก.ค. 2567 ที่ 103 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 7.92 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 7.02 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SCB อยู่ที่ 0.71 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.59 เท่า

Back to top button