รีวิวมาตรการ Uptick rule 1 เดือนที่ผ่านมา

1 เดือนที่ผ่านมา กับความคืบหน้าของการใช้มาตรการ Uptick rule ที่มาจากการเรียกร้อง การสกัดธุรกรรมการขายชอร์ตของนักลงทุน


1 เดือนที่ผ่านมา กับความคืบหน้าของการใช้มาตรการ Uptick rule ที่มาจากการเรียกร้อง การสกัดธุรกรรมการขายชอร์ต (Short Sell) ของนักลงทุน ที่คิดว่าเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วง สวนทางกับตลาดหุ้นต่างประเทศ นั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

1.ธุรกรรมการขายชอร์ตในเดือนก.ค. 2567 เฉลี่ย 1,718 ล้านบาทต่อวัน ลดลงแบบมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2567 (ก่อนใช้ Uptick) เฉลี่ย 5,849 ล้านบาทต่อวัน หรือลดลง 70.6%

ในแง่ดี การลดลงของปริมาณการขายชอร์ตอาจจะไม่ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงแรงเหมือนที่เข้าใจกัน แต่ถ้าจะคิดว่า จะทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นนั้น คงเป็นการคิดที่อาจจะไม่รอบด้าน เพราะเรื่องของการปรับตัวขึ้นของดัชนี เป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทมากกว่า

อีกทั้งการขายชอร์ตที่ลดลง ก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนรายย่อยกล้ากลับมาซื้อหุ้นอยู่ดี ฉะนั้นความสัมพันธ์ที่ว่า สกัด Short sell แล้วหุ้นจะขึ้น คงไม่น่าจะใช้ทฤษฎีนี้ได้

2.ปริมาณการซื้อขายในเดือนก.ค. 2567 เฉลี่ย 36,693 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2567 เฉลี่ย 42,908 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับ ตัวเลขของปริมาณการซื้อขายรายวันลดลงสอดคล้องกับยอดธุรกรรมขายชอร์ตที่ลดลง

โดยการมี Uptick ทำให้การขายชอร์ตลดลง และปริมาณการซื้อขายรายวัน ก็ลดลงตามไปด้วย

3.SET INDEX ณ วันที่ 31 ก.ค. ปิดที่ 1,320 จุด เทียบกับ วันที่ 28 มิ.ย. ปิดที่ 1,300 จุด ดัชนีเพิ่มขึ้น +20 จุด

การจะบอกว่า มี Uptick แล้ว ช่วยทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นนั้นก็ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้อย่างเต็มปากสักเท่าไหร่

เนื่องจาก ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวดี ของตลาดหุ้น และภาพรวมเศรษฐกิจ หลายเรื่องที่มีผลต่อการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทย อาทิ

เรื่องการจัดตั้งกองทุน TESG, ความชัดเจนของ ดิจิทัล วอลเล็ต, การประกาศควบรวมกิจการ (Amalgamation) ระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กับ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และแนวโน้มผลประกอบการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนที่กำลังจะประกาศ

ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ (SET50) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการควบรวมของ ทำให้หุ้น GULF-INTUCH-ADVANC-THCOM ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหุ้น 4 ตัวนี้ มีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนี

4.ปริมาณการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เดือนก.ค. 2567 อยู่ที่ขายสุทธิ –1.8 พันล้านบาท เทียบเดือนมิ.ย. 2567 ขายสุทธิ –3.5 หมื่นล้านบาท ลดลงแบบมีนัยสำคัญ

แต่หากเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึง ปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิอยู่ –120,832 ล้านบาท

สำหรับ สาเหตุหลักของการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง ปี 2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

คือ การเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การไปตามหาต้นตอของการเทขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดย้ายเงินออกนอกประเทศ และการลดพอร์ตการลงทุนในประเทศ น่าจะเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญของการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยมากกว่าที่จะไปจับผิด การ Short sell ว่าทำลายตลาด

เพราะทุกครั้งภายหลังจากที่มีการทำธุรกรรม Short sell ก็ต้องมีการ Cover short เสมอ คงไม่มีการเปิด Short แล้วปล่อยไปเรื่อย ๆ โดยไม่ปิดความเสี่ยงหากตลาดหุ้นรีบาวด์กลับมา

Short sell ไม่ได้น่ากลัว หรือเลวร้ายอย่างที่พูดกันเลย แต่สิ่งที่ควรตระหนักที่สุด และต้องกลัวที่สุด คือ การ Long sell

เนื่องจาก ธุรกรรมนี้ จะไม่มีการซื้อคืนตามเงื่อนไข หรือสัญญาที่วางไว้ เหมือนกับ Short sell

โดยวันนี้ นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิ ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันไป –3.1 แสนล้านบาท ซึ่งก็เป็นสาเหตุของการ Long sell ที่ทำลายตลาดหุ้นไทยนั่นเอง

อึ้งย้ง

Back to top button