‘โซลาร์ฟาร์ม’ ลดทอนพื้นที่เกษตรจีน

ข้อมูลจาก The Wall Street Journal พบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา “จีน” ทุบสถิตินำหน้าสหรัฐฯ ด้านการติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm)


ข้อมูลจาก The Wall Street Journal  พบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา “จีน” ทุบสถิตินำหน้าสหรัฐฯ ด้านการติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แต่ขณะเดียวกันเกิดความกังวลว่า ความพยายามดังกล่าว อาจเป็นการรุกล้ำพื้นที่เพาะปลูกทางเกษตรกรรมและสกัดกั้นเป้าหมายของประเทศ ที่ต้องการให้พึ่งพาผลผลิตในประเทศ

จากความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล มีการส่งเสริมให้โครงการเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถสร้างผลกำไรได้ดีขึ้น ทำให้บรรดาบริษัท, เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเกษตรกรบางรายพยายามสร้างผลกำไรด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ ที่เคยถูกใช้เพื่อเพาะปลูกพืชพันธุ์มาเป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ ที่ถือว่าขัดต่อคำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามไม่ให้ทำโครงการลักษณะดังกล่าวบนพื้นที่การเพาะปลูก

โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) รายงานว่า จากพื้นที่หลายร้อยเอเคอร์ในเขตชนบทตำบล Muzi มณฑลหูเป่ย ที่ถือว่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของจีนและเคยถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่เกษตรกรรมคุณภาพสูง” กำลังถูกปกคลุมไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก แม้ว่าช่วงปี 2562 ทางการท้องถิ่น เคยประกาศแผนสร้างช่องชลประทาน ระบบระบายน้ำและถนนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรและปรับปรุงการเชื่อมต่อก็ตาม

ทำให้ CCTV ระบุว่า ไม่ว่าภาคส่วนพลังงานแสงอาทิตย์จะดีแค่ไหน หรือสมควรได้รับการสนับสนุนมากเพียงใด ก็ไม่ควรละเมิดกฎหมายและขัดต่อนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวกับการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ

“ความมั่นคงด้านอาหาร” ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำของจีนเนื่องจากประเทศมีแหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกที่จำกัด การขาดแคลนอาหารในอดีต เช่น เหตุการณ์ทุพภิกขภัย (การขาดแคลนอาหาร) ครั้งใหญ่ ช่วงปี 2502-2504 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อภัยคุกคามครั้งใหม่ ขณะที่ปัจจุบันจีนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในบางพื้นที่

แม้ว่าผลผลิตอาหารจะเพิ่มขึ้นบ้างช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดย “สี จิ้น ผิง” ประธานาธิบดีจีน ย้ำชัดว่า เจ้าหน้าที่ต้องปกป้องพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศประมาณ 300 ล้านเอเคอร์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศจะไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากรเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และที่อื่นใด

ขณะเดียวกันมีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงลดการนำเข้าน้ำมันและถ่านหินไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า มีการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วจำนวนเท่าใด แต่รัฐบาลจีนมีการเก็บสถิติการเพิ่มขึ้นของกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใหม่เพิ่มขึ้นประมาณกว่า 55% เมื่อเทียบช่วงปี 2565

นับจากนี้น่าจับตาว่าเมกะเทรนด์ว่าด้วย “การลดการปล่อยคาร์บอน” กำลังลดทอน “ความมั่นคงทางอาหาร” ของจีนอย่างมีนัยสำคัญ และสุดท้ายแล้วรัฐบาลจีน จะบริหารจัดการเส้นแบ่งอันเปราะบางนี้ได้อย่างไร..!!??

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button