TTB ได้ tax shield ดันกำไร

TTB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 1.บรรษัทธุรกิจ 30% 2.SME 8% 3.รายย่อย-เพื่อที่อยู่อาศัย 25% 4.รายย่อย-เช่าซื้อ 30%


คุณค่าบริษัท

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 1.บรรษัทธุรกิจ 30% 2.SME 8% 3.รายย่อย-เพื่อที่อยู่อาศัย 25% 4.รายย่อย-เช่าซื้อ 30% 5.รายย่อย-สินเชื่อบุคคล 3% 6.รายย่อย-บัตรเครดิต 3% 7.อื่น ๆ 1% ภายใต้สินเชื่อกลุ่มรายย่อย-เช่าซื้อ 30% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.รถยนต์ใหม่ 66% 2.สินเชื่อรถแลกเงิน 20% 3.รถยนต์ใช้แล้ว 14% 4.สินเชื่อเล่มแลกเงิน 0.4%

TTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 5,355.47 ล้านบาท ขยายตัว 17.28% จากไตรมาส 2/2566 และเพิ่มขึ้น 0.41% จากไตรมาส 1/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 5,333.79 ล้านบาท กำไรไตรมาส 2 สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด กำไรที่เติบโตแข็งแกร่งจากไตรมาส 2/2566 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในไตรมาส 2/2567 ที่ 1.4 พันล้านบาท ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีลดลง 14% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2566 จากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่สูงขึ้น 24% จากไตรมาส 2/2566 เพื่อสะท้อนการตั้งสำรองพิเศษ (management overlay) จำนวน 1.09 พันล้านบาท ในไตรมาส 2/2567 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ของ TTB เพิ่มขึ้น 0.6% จากไตรมาส 1/2567 โดยหลักมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ทำให้ Cost to Income Ratio ลดลงจาก 42.8% ในไตรมาส 1/2567 มาเป็น 41.5% ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 1.5% และ 2.6% จากไตรมาส 1/2567 ตามลำดับ หลังพอร์ตสินเชื่อรวมลดลง 1.3% จากไตรมาส 1/2567 ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันปรับตัวลง ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังรักษาระดับได้ที่ 3.2% ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2567 หลังปรับเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น ส่วน NPL Ratio ปรับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 3.1% จาก 3% ในไตรมาส 1/2567 ทำให้ Credit Cost ทรงตัวสูงที่ 1.6% เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในไตรมาส 1/2567 และมี Coverage Ratio ที่ 154.1% ใกล้เคียงไตรมาส 1/2567

ผลประโยชน์ทางภาษี (Tax Shield) ช่วยสนับสนุนให้ TTB มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาส 1/2567 แม้ว่าผลประกอบการอ่อนแอ TTB มีผลประโยชน์ทางภาษีคงเหลือจำนวน 1.27 หมื่นล้านบาท ณ ไตรมาส 2/2567 (เทียบกับ 1.55 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 4/2566) ซึ่งสามารถทยอยรับรู้ได้ภายในปี 2571 TTB เปิดเผยว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อให้กับ EA จำนวน 450 ล้านบาท โดย TTB ไม่ได้ตั้ง ECL สำหรับสินเชื่อรายนี้ แต่เชื่อว่าสำรองพิเศษของธนาคารน่าจะเพียงพอรองรับ ECL จากสินเชื่อรายนี้ TTB ระบุว่ามีแผนดำเนินการบริหารจัดการเงินทุนอย่างต่อเนือง โดยการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชั้นที่ 1 จำนวน 3.15 พันล้านบาท (จากข้อมูลในไตรมาส 1/2567) และจะรับรู้การประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบียได้ 600 ล้านบาท ในปี 2568 จากที่ได้ชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชั้นที่ 2 ลงครึ่งหนึ่งในไตรมาส 2/2567

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ TTB ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 70,365.46 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 20,449.28 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 1.99 บาท จาก 20 โบรกเกอร์

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดแนวโน้มครึ่งหลังของปี 2567 กำไรจะชะลอลงเล็กน้อยจากครึ่งแรกของปี จากการบันทึกค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยี รวมถึงค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงาน ขณะที่ฝั่งรายได้ยังเติบโตได้อย่างจำกัด จากนโยบายปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม TTB มีประเด็นบวกเฉพาะตัวจากการใช้สิทธิทางภาษี ทำให้คาดจะช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว คาดว่า TTB จะมีกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 20,175 ล้านบาท โต 9.3% จากปี 2566

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น TTB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ 1.63 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 8.13 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 6.80 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น TTB อยู่ที่ 0.67 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.57 เท่า

Back to top button