แนวต้านพลวัต 2016
เช้าวันจันทร์วานนี้ นักวิเคราะห์ทุกสำนักของโบรกเกอร์ไทยพากันฟันธงอย่างไม่ต้องกลัวผิดว่า ดัชนี SET จะสามารถฝ่าแนวต้านขึ้นยืนเหนือ 1,300 จุดได้สำเร็จภายในสัปดาห์นี้
เช้าวันจันทร์วานนี้ นักวิเคราะห์ทุกสำนักของโบรกเกอร์ไทยพากันฟันธงอย่างไม่ต้องกลัวผิดว่า ดัชนี SET จะสามารถฝ่าแนวต้านขึ้นยืนเหนือ 1,300 จุดได้สำเร็จภายในสัปดาห์นี้
เปิดตลาดเช้ามาก็ทำท่าจะเป็นเช่นว่า เพราะดัชนีนิกเกอิในโตเกียว เปิดตัวแรง แม้จะทำท่าย่อตัวระยะแรก แต่ก็ปิดตลาดเช้าบวกแรง เช่นกับตลาดฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยบวกแรงตั้งแต่แรกเทรด บวกไปมากกว่า 15 จุด พยายามยืนเหนือ 1,280 จุดให้ได้ และในช่วงปิดตลาดเช้าก็ยังไปได้สวย แม้ว่าจะมีหุ้นกลุ่มสื่อสารถ่วงตลาดอยู่บ้าง
เปิดตลาดบ่าย สถานการณ์พลิกผันเหมือนหนังคนละม้วนอีกครั้งเมื่อราคาน้ำมันช่วงเช้าที่เปิดตลาดมาบวกแรงเกือบ 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พลิกกลับเป็นลบหน้าตาเฉย ทำให้ดัชนีหุ้นเอเชียพากันร่วงแม้จะปิดบวกกันทั่วหน้าไปก่อน แต่ตลาดยุโรปที่เปิดมาลบตามราคาน้ำมัน ก็ทำให้ราคาหุ้นพลังงาน เป็นตัวถ่วงตลาดอย่างช่วยไม่ได้
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดบวกท้ายตลาด -0.33 จุด เป็นสถานการณ์บ่งบอกว่า เช้าวันอังคารนี้ ตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนต่อไป การคำพยากรณ์ของศาสดาปลอมในคราบนักวิเคราะห์ที่ว่าจะทะลุแนวต้านเหนือ 1,300 จุด ยังคงต้องรอกันต่อไป เพราะโอกาสเป็นไปได้ต่ำลง
นักวิเคราะห์ไม่ได้เจตนาทำผิดพลาด แต่การวิเคราะห์ของพวกเขา มีลักษณะที่เรียกว่า “กับดักของพลาโต้” คือ เอาข้อมูลเชิงสถิติมาคาดเดาอนาคต ซึ่งมีโอกาสผิด เหมือนเอาสถิติการแข่งขันฟุตบอลมาบอกว่าทีมนั้นจะแพ้อีกทีมเสมอ …ฉันใดก็ฉันนั้น
ในทางปฏิบัติ การวิเคราะห์ทางเทคนิคของนักวิเคราะห์ จะคุ้นเคยกับคำว่า แนวต้าน และแนวรับ ซึ่งทั้งสองแนวดังกล่าว ไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มีแต่ในจินตนาการเชิงทฤษฎี
เพียงแต่แนวต้านและแนวรับที่เกิดจากจินตนาการ ไม่ใช่จินตนาการที่เลื่อนลอย เพราะว่า เป็นแนวต้านและแนวรับที่เกิดจากการประมูลทางสถิติว่าด้วยพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนร่วมทั้งตลาด ที่ผ่านการประมวลมาแล้วอย่างดี นับแต่ดาว และ โจนส์ สองนักสถิติอเมริกัน พยายามสร้างทฤษฎีและเส้นกราฟเพื่อประมวลสัญญาณทางเทคนิคของราคาหุ้นเมื่อกว่า 2 ศตวรรษก่อน
แนวต้านหมายถึง ขีดจำกัดระยะหนึ่งภายใต้ข้อกำหนดของเวลาที่ราคาหุ้นหรือดัชนีจะวิ่งขึ้นไปได้สูงสุด ก่อนที่จะปรับตัวลงมา ส่วนแนวรับคือ ขีดจำกัดต่ำสุดที่ราคาหุ้นหรือดัชนีจะวิ่งลง แล้วพลิกบวกขึ้นไป
หากพิจารณาในมุมของดัชนี แนวต้านหมายถึงเขตซื้อมากเกินไป ส่วนแนวรับคือ เขตขายมากเกินไป
หากพิจารณาจากระยะสั้น จะพบว่าแนวต้านและแนวรับของดัชนีตลาดหุ้นไทยยามนี้ ความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับตัวลงเป็นไปได้ต่ำมาก โอกาสปรับตัวขึ้นสูงกว่าเสมอ แต่ในทางปฏิบัตินั้น นักวิเคราะห์ทุกคนรู้ดีว่า การวิ่งขึ้น หรือ ลง ไม่ว่าจะ เหนือ หรือ ใต้ขีดจำกัดของแนวต้านหรือแนวรับ เป็นไปได้เสมอ เพราะแนวต้านที่แท้จริงไม่เคยมี และแนวรับที่แท้จริงก็ไม่เคยมี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นฐานของปัจจัยภายนอกตลาด หรือตลาดอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้กระแสฟันด์ไฟลว์เกิดการเคลื่อนตัวไหลเข้ามาก หรือไหลออกมาก ผิดปกติ
ข้อเท็จจริงเช่นนี้ อย่าว่าแต่นักวิเคราะห์เลยที่รู้ นักลงทุนที่ช่ำชองก็รู้เช่นกัน ความรู้ทั้งหลายในการเก็งกำไร ปัจจุบันยิ่งแพร่กระจายเมื่อมีการใช้สื่อออนไลน์ คล่องแคล่วจนนักวิเคราะห์ไม่ไช่ผู้ที่ผูกขาดความรู้อีกต่อไป ได้กลายเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา
ผลลัพธ์คือ แนวรับและแนวต้านของนักวิเคราะห์เริ่มถูกท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ซึ่งถือเป็น “ช่วงเวลาของความกลัว” ที่กำลังครอบงำจิตวิญญาณของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เหนือความโลภ
คำพูดเชิงบวกของนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งที่ว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดำดิ่งจนราคาหุ้นจำนวนมากต่ำกว่าพื้นฐาน เข้าเขตขายมากเกินไปแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ลงเอยด้วยสภาพของ “แมวตายเด้ง” มากกว่า บั่นทอนอิทธิพลของนักวิเคราะห์ลงอย่างมาก
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดดุลยภาพใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนรุนแรงต่อตลาดทุนทั่วโลก เป็นการผสมผสานที่ไม่ลงตัวเลยของอารมณ์เหนือเหตุผลที่หลากหลาย แม้จะไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นว่า แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า 3 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของตลาดยามนี้ คือ 1) ราคาน้ำมันกับสินค้าโภคภัณฑ์ล้นเกิน 2) การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ 3) ความวุ่นวายของเศรษฐกิจในจีน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาด
การที่ราคาน้ำมันพลิกตัวกลับขึ้นหรือลง ทำให้ตลาดวูบวาบเหมือนไร้หลักการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การที่ความกลัวขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ตลาดหุ้นย่ำแย่ และการที่มีตัวเลขเศรษฐกิจจีนทางลบ ล้วนมีผลต่อทิศทางของราคาหุ้นทั้งหลายทั่วโลกที่ดูเหมือนไม่สัมพันธ์กันเลย เป็นสิ่งที่นักลงทุนสัมผัสได้ตลอด
บางทีสัญชาตญาณของนักลงทุนอาจผิดพลาด แต่ก็ไม่สามารถกล่าวหาว่านักลงทุนโง่เง่าหรือบ้องตื้นเกินไปได้ เพราะในภาวะอย่างนี้ ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ แม้กระทั่งคนที่อ้างว่ารู้จักตลาดดีที่สุดก็ตาม