PTTEP กำไร Q2/67 หักปากกาเซียน!

PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 โชว์กำไรสุทธิอยู่ที่ 653 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 23,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43 ล้านเหรียญสหรัฐ


คุณค่าบริษัท

ถือว่าหักปากกาเซียนอีกครั้ง เมื่อบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 โชว์กำไรสุทธิอยู่ที่ 653 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 23,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 610 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 21,040 ล้านบาท

โดยในไตรมาสนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,412 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 88,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 338 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 16% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,074 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 71,477 ล้านบาท ซึ่งผลงานดังกล่าวสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะมีกำไรสุทธิราว 21,173 ล้านบาท

ขณะที่ ผลประกอบการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,177 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 42,660 ล้านบาท ลดลง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้รวม 4,608 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 166,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 249 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,608 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 489,879 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลงเล็กน้อยจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้บริษัทมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อยู่ที่ 28.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 76%

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 484,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากไตรมาส 2/2567 ที่ทำได้ 506,709 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโครงการในอ่าวไทยตามแผนงานของบริษัท โดยคาดว่าปริมาณการขายทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 501,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 462,007 บาร์เรลต่อวัน หลัก ๆ มาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณในประเทศไทย ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิตโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเร็วกว่าแผนงาน และโครงการ บี 8/32 กลับมาผลิตได้ตามปกติได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 หลังจากหยุดผลิตชั่วคราว

จากผลงานในไตรมาส 2/2567 ที่ดีกว่าคาด ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อ PTTEP โดยบล.กรุงศรี มองเชิงบวก เนื่องจาก 1)upside ต่อประมาณการราว 1-2% หากบริษัทลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการลงทุนของแหล่งผลิตในประเทศได้ตามเป้า 2)ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่องในระยะยาวจากแหล่งใหม่ที่ทยอย COD ในปี 2568-2571 สร้างโอกาสมี upside จากการ M&A ในอนาคต และ 3)ได้รับหนังสืออนุญาตจาก Office of Foreign Assets Control/OFAC ให้ทำธุรกรรมการเงินและการดำเนินธุรกิจในโครงการในเมียนมาได้

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น PTTEP ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 7.33 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 16.25 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายต่ำกว่าตลาด สอดคล้องกับ P/BV ที่ระดับ 1.04 เท่า ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.22 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 183.21 บาท จากราคาต่ำสุด 164 บาท และราคาสูงสุด 215 บาท

Back to top button