หุ้นโลกผันผวน ‘เฮดจ์ฟันด์’ ลดเสี่ยง.!
จากปรากฏการณ์การเทขายอย่างรุนแรงและการฟื้นตัวของตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลก เป็นผลพวงจากการยุติการซื้อขายที่ใช้เงินทุนจากเงินเยนญี่ปุ่น
จากปรากฏการณ์การเทขายอย่างรุนแรงและการฟื้นตัวของตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลก ช่วงต้นเดือนส.ค. 67 ที่ผ่านมา เป็นผลพวงจากการยุติการซื้อขายที่ใช้เงินทุนจากเงินเยนญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าหลาย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และความกังวลว่าเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอย…
ทำให้วันที่ 5 ส.ค. 67 ดัชนีความผันผวน CBOE หรือดัชนี VIX ปิดตลาดสูงสุดรอบเกือบ 4 ปี
โดยแบบจำลองการเปิดรับความเสี่ยงของบริษัทวิจัยกองทุนเฮดจ์ฟันด์ PivotalPath ระบุว่า การร่วงลงของตลาดทำให้เกิดผลขาดทุนกับเฮดจ์ฟันด์จำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้กองทุนเชิงปริมาณด้านเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก มีผลขาดทุนช่วง 1.5-2.5% ระหว่างวันที่ 1-5 ส.ค. 67
ขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เน้นภาคธุรกิจเทคโนโลยีมีผลขาดทุน 2.5-3.5%
จากข้อมูลของโซเฟีย ดรอสซัส นักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์ของบริษัทจัดการลงทุน Point72 ระบุว่า ความผันผวนที่พุ่งสูงขึ้นกว่าคาด น่าจะช่วยบรรเทาและสกัดกั้นนักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยงได้บ้าง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ข้อมูลที่จัดทำโดย Hedge Fund Monitor ของสำนักงานการวิจัยด้านการเงิน (Office of Financial Research) ระบุว่า การใช้ leverage หรือการที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์กู้ยืมมาใช้ในการเพิ่มขนาดการซื้อขายนั้นอยู่ที่ระดับสูงสุด เป็นประวัติการณ์รอบทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ณ สิ้นสุดมี.ค. 67 ด้วยยอดกู้ยืมจากบริษัทนายหน้าชั้นนำที่ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 63% จากเดือน ธ.ค. 62 และแซงหน้าการเติบโตของสินทรัพย์ของกองทุนเฮดจ์ฟันด์เหล่านั้น อย่างไรก็ตามมีการปิดสถานการณ์ลงทุนที่หลากหลายช่วงต้นเดือนส.ค. 67
“เจพีมอร์แกน” ระบุว่าที่ปรึกษาด้านการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ (CTA) หรือผู้จัดการเงินทุนที่ติดตามแนวโน้มของตลาดได้ลงทะเบียน “การปิดสถานะ” ของสถานะซื้อหุ้นสถานะขายเยน, สถานะขายพันธบัตรญี่ปุ่นและพันธบัตรเยอรมนีอายุ 10 ปีอย่างฉับพลัน หลังจากข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67 ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้
บันทึกสำคัญของโบรกเกอร์ชั้นนำอย่าง “โกลด์แมน แซคส์” ที่ส่งให้บรรดาลูกค้าแสดงให้เห็นว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้มีการปรับลดสถานะการเปิดรับความเสี่ยงโดยรวมต่อหุ้นญี่ปุ่นลงเหลือ 4.8% จาก 5.6%
ขณะที่ปรับลดอัตราส่วนการกู้ยืม (leverage) โดยรวมของพอร์ตโฟลิโอลงเกือบ 1% มาอยู่ที่ 188.2%
ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐฯ และจาก LSEG บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานะของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ในการถือเงินเยนของญี่ปุ่น หดตัวลงสู่ระดับขายสุทธิต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ. 66
พร้อมกันนี้นักลงทุนได้ยุติการซื้อขายแบบ Carry Trade ของเงินเยนด้วยเช่นกัน..
นั่นถือเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นชัดว่า..บรรดาผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของกองทุนป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) มีการปรับลดสถานะที่มีความเสี่ยงสูงบางส่วนลง หลังจากเกิดความผันผวนอย่างหนักช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา..!!??