‘Naked Short-Force Sell’ วาทะที่ใช้หลอก เพื่อแอบขายหุ้นเนียน ๆ ก่อนประกาศงบฯ

การประดิษฐ์ประดอย คำพูดให้ดูดี ของบรรดาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่ออกมาร้องแรกแหกกระเชอ “ปกป้อง” การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นบริษัท


การประดิษฐ์ประดอย คำพูดให้ดูดี หรือ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ของบรรดาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่ออกมาร้องแรกแหกกระเชอ “ปกป้อง” การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นบริษัท พร้อมยืนยันว่าบริษัทยังแข็งแรงอยู่ โดยรับบทเป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำ นั้น มีกลวิธีที่แตกต่างกัน อาทิ

1.การโยนบาป ให้กับทางการ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่า มีความหย่อนยานในการตรวจสอบ ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างรัดกุม หรือปิดหูปิดตา ในการเข้าถึงข้อมูล

โดยมักอ้างว่า ขนาดรายย่อยยังมองเห็น ทำไมทางการถึงมองไม่เห็น ราคาหุ้นที่ไหลลง ทั้ง ๆ ที่ฝั่งผู้บริหารเองก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนขาย แต่หุ้นยังไหลลงแบบนี้ เป็นต้น

2.การโยนบาป ให้กับ ระบบการซื้อขาย โดยอ้างว่า มีความไม่เท่าเทียม มีการทำ Naked Short Selling แล้วจับไม่ได้ มีการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายย่อย ที่ส่งออเดอร์ได้เร็วกว่า ในระบบ Robot หรือ HFT ตลอดจน การถูกชี้นำให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่า มีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ จากการลงของราคาหุ้น

3.การโยนบาป ให้กับ การถูกบังคับขาย (Force Sell) ของบรรดาผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัย ไม่สามารถยับยั้งได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามเกม

โดยมีข้อสังเกต ที่ดูแล้วผิดสังเกต ว่า “ทำไม ถึงไม่มีผู้บริหารคนใด คิดจะเอาเงินเข้ามาเติมเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกบังคับขาย เพื่อปกป้องรายย่อยจริง ๆ  แต่กลับยอมปล่อยให้มันพังลงมา  ทั้ง ๆ ที่ตนเอง ก็น่าจะหาทางทำให้หุ้นไม่ถูก Force ได้ แต่ทำไมไม่ทำ?

ตัวอย่างของเคส การโยนบาป อย่างน้อย 3 ข้อที่ยกตัวอย่างมา ถือเป็นภาพที่อาจจะไม่ชัดเจน หรือมีหลักฐานที่อาจจะเป็นความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว

แต่ก็ยังมีผู้ลงทุนบางกลุ่ม, นักวิเคราะห์บางคน, อินฟลูเอนเซอร์บางเพจ หรือแม้แต่ บางสื่อเอง ยังหยิบข้อมูลเหล่านี้ไปใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยไม่มีความสงสัยเลยว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจริงอยู่กี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ แต่กลับเชื่อว่ามันเป็นความจริง 100% เพราะออกมาจากปากของผู้บริหาร

การตัดสินใจเชื่อทันที ที่ออกจากปากของผู้บริหาร ที่แสดงบทเป็น “เหยื่อ” โดยไม่คิด หรือตรึกตรองให้รอบครอบ ซึ่งในความจริงแล้ว อาจจะเป็นเกมที่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะได้เปรียบเรื่องต้นทุนอยู่ที่ราคาพาร์

จนวันนี้ ข้อเท็จจริงที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นคำตอบของคำถามข้างต้น  คือ งบ Q2/67

ย้อนกลับไปในช่วง 1 เดือนก่อนที่งบการ Q2/67 จะออกมา

มีหุ้นที่เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงแบบไม่ทราบสาเหตุ หลายตัว บางตัวปรับลดลงไม่ต่ำกว่า 50-80%

ทุกคนทราบดีว่า ตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่แท้จริง คือ “ผลประกอบการ” หรือ “กำไรสุทธิ” แต่ในช่วง 1 เดือนที่หุ้นลง เราไม่สามารถดูผลประกอบการได้ เพราะมันยังไม่ออก บริษัทที่ราคาหุ้นมีปัญหาเหล่านี้ จะมีเรื่องที่หนีไม่พ้นเรื่องดังต่อไปนี้

1.เป็นบริษัทที่กำไรลดลงแบบมีนัยสำคัญ ลดลงเกิน 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

2.เป็นบริษัทที่พลิกจากเคยมี “กำไรสุทธิ” มาเป็น “ขาดทุนสุทธิ”

หากมีการนำหุ้นที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา เปรียบเทียบ กับผลประกอบการใน Q2/67 ที่เพิ่งประกาศ เราจะเห็นข้อเท็จจริง ที่เป็นที่ไปที่มาของราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และทราบทันทีว่า สาเหตุเกิดจากอะไร!?

1.การเทขายหุ้นของกลุ่มนอมินี ที่ถือหุ้นแทน เจ้าของ หรือผู้บริหาร เนื่องจากรู้ว่าผลประกอบการจะลดลง และแย่ลงจึงต้องเทขายในช่วงที่ยังไม่มีใครรู้

2.การอ้างว่าหุ้นถูก Naked Short บ้าง หรือ ถูก Force Sell จากการนำเอาไปวางเป็นหลักประกันเพื่อขอวงเงินมาร์จิ้น ในการซื้อหุ้นเพิ่ม

โดยหลักจะใช้ เหตุผลของการปรับตัวลดลงของราคาว่า ถูก Force Sell สามารถใช้อ้างอิง เพื่อขายหุ้นในช่วงก่อนงบออก 30 วันได้ โดยไม่ผิดกฎระเบียบของทางการ หรือ แม้จะมีข้อกำหนดห้ามซื้อขายหุ้นก่อนงบออก 30 วันของบริษัทก็ตาม

เนื่องจากการ Force Sell เป็นการถูกบังคับ แบบไม่เต็มใจของบุคคลที่เอาไปวางในบัญชีมาร์จิ้น ทำให้เกิดช่องว่างที่เป็นรู ในการมุดหนีความผิดของ “Insider Trading” ที่รู้ล่วงหน้า จะถูกละเว้น หรือ ปัดตกไปในทันที

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า การ Force Sell มี 2 แบบ 1.ถูกบังคับจริง ๆ 2.แสร้งว่าถูกบังคับขาย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นข้อที่ 1 ให้สังเกตดูว่า ถ้ามีการ Force Sell จริง ๆ โดยราคาหุ้นร่วงลงไป 2-3 floor โบรกเกอร์ที่ปล่อยสินเชื่อ ต้องเกิดความเสียหาย และเรียกร้อง ขอเงินเติมจากคนที่ถูก Force Sell ไม่เช่นนั้นโบรกเกอร์เหล่านั้นจะขาดทุนทันที

ส่วนข้อที่ 2 ที่แสร้งว่า ถูก Force เพราะจะได้ใช้เป็นช่องทางในการขายหุ้น แต่ไม่มีโบรกเกอร์ใดเสียหาย เพราะหุ้นดังกล่าว ไม่ได้ถูกวางเพื่อขอวงเงินมาร์จิ้นก่อนหน้านี้

ทำให้สามารถขายหุ้นได้ โดยไม่ถูกผู้ลงทุนประณาม เพื่อแค่บอกว่า ถูก Force Sell แค่นี้พอ แถมยังมีการทำนายล่วงหน้าอีกว่า ตนเองจะถูก Force Sell วันไหน และวันไหนที่ Force Sell จะหมด

ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมผู้บริหารเหล่านี้ ถึง ไม่รักหุ้นที่ตนบริหารอยู่ ไม่เอาหลักประกันมาเติม และยอมปล่อยให้ถูกบังคับขายแบบเต็มใจ สิ่งนี้ถือเป็นวิธีการขายหุ้นที่เนียนที่สุด และได้ราคา

ทำไมการปล่อยให้หุ้นถูก Force Sell ถึงทำให้ขายหุ้นได้ราคา คำตอบ คือ

“ราคาหุ้นที่ถูก Force Sell ส่วนใหญ่ 90-100% จะเป็นราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน”

กล่าวคือ ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ 1 เดือน ที่ผ่านมา ราคาหุ้นที่ถูก Force Sell จะเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในวันนี้ทุกตัว

กลายเป็นว่า หุ้นที่ถูก Force Sell ก่อนส่วนใหญ่ งบจะพัง หรือกำไรจะหดหายลงทุกตัว

จึงเป็นที่มาของการ Force Sell ไม่ใช่ไม่มีเงินเติม แต่รู้ก่อนว่า “ผลประกอบการจะแย่” จึงต้องปล่อย และรีบให้ถูก Force ออกมา ยิ่งเร็วยิ่งดี

ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ ผู้ลงทุนควรรู้ และควรทำความเข้าใจ กับปัจจุบันของโลกแห่งการลงทุน

อึ้งย้ง

Back to top button