พาราสาวะถี

ยืนยันจาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายชื่อ ครม.ชุดใหม่จะได้บทสรุปภายในสัปดาห์นี้ แต่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติจะต้องเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา


ยืนยันจาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายชื่อ ครม.ชุดใหม่จะได้บทสรุปภายในสัปดาห์นี้ แต่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติจะต้องเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอย เศรษฐา ทวีสิน ตามรายงานข่าวทางพรรคเพื่อไทยได้กำชับให้พรรคร่วมรัฐบาล ส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เพื่อส่งให้เลขาธิการ ครม. และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สแกนคุณสมบัติภายในวันนี้ (20 สิงหาคม) 

พรรคอื่น ๆ คงไม่มีปัญหา น่าจับตาพลังประชารัฐ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะเอายังไง หรือปล่อยให้ ธรรมนัส พรหมเผ่า บริหารจัดการเองทั้งหมด กรณีนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ถึงกับบอกนักข่าว “ต้องถามหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่ายังโอเคหรือไม่” เห็นวันนั้นไม่สบายใจเรื่องอะไร ตนไม่แน่ใจ อยู่ที่หัวหน้าพรรค ต้องเป็นคนเคลียร์กรรมการบริหารพรรคตัวเองว่าจะเอาอย่างไร หากภายในพรรคมีปัญหาก็ต้องเคลียร์ให้จบ 

สารที่สื่อออกมานั้น คงไม่ได้หมายถึงคนพรรคสืบทอดอำนาจทั้งหมด น่าจะเป็นการส่งตรงถึงพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.แค่เพียงคนเดียว เพราะเสี่ยอ้วนพูดถึงการตบหัวนักข่าวจากการไม่สบอารมณ์ในวันโหวตเลือกนายกฯ รวมทั้งตั้งคำถามไปถึงคนบ้านในป่าว่า “ไม่อยากร่วมหรือท่านคิดว่าพอแล้วก็ตัดสินใจได้” สัญญาณชัดเจนเมื่อเดินกันแบบนี้ มันก็น่าจะเป็นจังหวะนับถอยหลังวางมือของพี่ใหญ่ ซึ่งน่าจะรวมไปถึงน้องชายร่วมสายเลือด พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่จะไม่ได้ไปต่อ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้มข้นในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นเสนาบดี ทำให้อาจจะมีปัญหาไม่น้อยสำหรับรัฐมนตรีบางคนที่ถูกสังคมตั้งข้อกังขา เหมือนข่าวที่ปรากฏออกมา ธรรมนัสอยู่ในข่ายที่จะต้องสแกนกันให้ชัดเหมือนกัน หากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลต่อการที่จะทำงานร่วมกันไม่น้อย แต่เชื่อได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยังมีรายของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ จากภูมิใจไทย ซึ่งในวันที่รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้มาร่วมงานอยู่ในข่ายถูกตรวจสอบเช่นกัน

แม้ว่าจะตั้งการ์ดสูงกันอย่างไร มันก็เป็นเพียงกระบวนการเพื่อทำให้ทุกอย่างรอบคอบ ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องไม่ลืมว่า ตราบใดที่อำนาจขององค์กรอิสระสามารถชี้เป็นชี้ตายฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้ ย่อมเป็นปัญหาต่อการทำงานของฝ่ายการเมือง เหมือนที่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกต กรณีของเศรษฐาก็ไม่ต่างจากที่ สมัคร สุนทรเวช เคยหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยการเปิดพจนานุกรมวินิจฉัยมาแล้ว

หนนี้ก็เช่นเดียวกัน คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะสายวิชาการ กูรูทางด้านกฎหมายต่างเชื่อกันว่าไม่น่าจะทำให้เศรษฐาต้องกระเด็นตกเก้าอี้ แต่กลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ตามที่สุชาติว่า มีคำถามอยู่เยอะ ตกลง พิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผิดหรือไม่ผิด ซึ่งไม่ได้ระบุชัด กลายเป็นเศรษฐาไม่ว่าจะอย่างไรก็ผิด ลักษณะเช่นนี้ไม่ต้องนำไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์ของต่างประเทศ เพราะสำหรับประเทศไทยมันไม่มีอะไรที่บอกได้ถึงมาตรฐานความเป็นสากล

ความจริงเสียงวิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตาย ยึดโยงหลักการอะไรหรือไม่นั้น มีการเทียบเคียงกันให้เห็นอยู่ตลอดเวลา แม้แต่กรณีการชี้ขาดเรื่องความเป็นนายกฯ เกิน 8 ปีของอดีตผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ถ้ายึดมั่นตามกระบวนการอย่างแท้จริง ผลจะไม่ออกมาอย่างที่เห็น นี่เป็นจุดอันตรายที่องค์กรอิสระมีอำนาจสูงมาก ชี้เป็นชี้ตายได้ มันจะกลายมาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

คงจะเกิดคำถามแย้งว่า หากไม่อยากให้เกิดปัญหา การพิจารณาเลือกคนก็ควรใช้บริการผู้ที่ไม่สุ่มเสี่ยงไม่ดีกว่าหรือ ใน ครม.แพทองธาร 1 อาจจะได้เห็นภาพนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐาต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า นี่เป็นความต้องการที่จะตอบแทนบุญคุณของทนายความถุงขนม จนลืมสรุปบทเรียนไปว่า ที่ผ่านมานั้น ผู้มีบารมีในรัฐบาลที่แท้จริงถูกกระทำอะไรมาบ้าง หรือมั่นใจในพลังที่ผ่านการเจรจามาเต็มที่จึงไม่คิดว่าบทสรุปจะออกมาเช่นนี้

มาถึงตรงนี้ เมื่อทุกอย่างต้องขับเคลื่อนกันด้วยแนวทางเช่นนี้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องบริหารจัดการกันให้ลงตัว ก่อนจะไปว่าเรื่องตัวบุคคลที่มีบทสรุปเพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมก็คือ โควตาของรัฐมนตรีที่คุยกันไว้นั้นต้องเป็นไปตามเดิม เริ่มมีข่าวปล่อยเพื่อไทยจะริบกระทรวงมหาดไทยคืนจากภูมิใจไทย ความเป็นไปได้นั้นน้อยมาก ต้องอย่าลืมว่าอีกฝั่งมีพลังต่อรองที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพรรคแกนนำ ถ้าอยากจะให้การเดินก้าวแรกของนายกฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่สะดุด อย่าได้กลับคำเป็นอันขาด

แม้ว่าซีกนายใหญ่จะถือไม้ตายยุบสภาไว้ในมือฐานะนายกฯ รักษาการของเสี่ยอ้วน แต่อีกฝั่งก็รู้ดีว่าไม่มีใครที่จะทำการฮาราคีรีตัวเอง รู้กันอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งใหม่เท่ากับการตายหมู่ของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น ไม่ว่าจะต้องอยู่ในภาวะกล้ำกลืนฝืนทนอย่างไร จำเป็นที่จะต้องเกาะกลุ่มกุมอำนาจกันอย่างนี้ต่อไป จะครบเทอมหรือไม่ อยู่ที่การทำงานหลังจากนี้ หากไม่มีการปีนเกลียว เหยียบตาปลากัน ทุกอย่างก็น่าจะราบรื่น เรียบร้อย ประเด็นที่ว่าจะมีการไปดึงเอาพรรคเก่าแก่มาเพื่อแชร์โควตารัฐมนตรีนั้น แกนนำของพรรคเพื่อไทยพากันส่ายหน้า ถ้าทำเช่นนั้นบอกได้คำเดียวทั้งบ้าและโง่

มิติทางการเมืองอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับความจำเป็น แต่เวลานี้ยังมองไม่เห็น สำหรับปัจจัยที่ทำให้กระบวนการตั้ง ครม.อาจสะดุดย่อมหนีไม่พ้นการไม่ทำตามสัญญา เหมือนข่าวลือที่ถูกปล่อยว่าเพื่อไทยจะขอกระทรวงมหาดไทยคืนจากภูมิใจไทย ทำเอาเสี่ยอ้วนต้องรีบปฏิเสธทันควัน งานนี้บอกได้ว่าเป็นข่าวที่หวังให้เกิดความไม่เข้าใจกันของสองพรรคแน่นอน ส่วนปมคุณสมบัติรัฐมนตรีอีกรายคือ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จากรวมไทยสร้างชาตินั้น ถ้าดูพื้นหลังของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคในฐานะอดีตผู้พิพากษา ก็ไม่น่าจะมาตกม้าตายกันง่าย ๆ ดูแล้ว วันนี้น่าจะพอเห็นโฉมหน้า ครม.แพทองธาร 1 กันได้

อรชุน

Back to top button