ITC บริหารเงิน (สด) ล้น.!
ช่วงที่ทุกคนจับจ้องอยู่กับตัวเลขกำไรขาดทุนในงบไตรมาส 2/2567 ของบริษัทจดทะเบียน จู่ ๆ ก็มีธุรกรรมแปลก ๆ อย่างลูกกระเตงแม่สอดแทรกขึ้นมาเฉยเลย
ช่วงที่ทุกคนจับจ้องอยู่กับตัวเลขกำไรขาดทุนในงบไตรมาส 2/2567 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จู่ ๆ ก็มีธุรกรรมแปลก ๆ อย่างลูกกระเตงแม่สอดแทรกขึ้นมาเฉยเลย กลายเป็นข้อสงสัยของผู้คนในแวดวงตลาดทุนว่าเกิดอะไรขึ้น..??
แถมคู่แม่ลูกที่ว่านี้ ไม่ใช่บริษัทไก่กาที่ไหน…ตัวแม่เป็นถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกฉายาราชาทูน่าอย่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ส่วนตัวลูกก็คือ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ซึ่งถูกวางให้เป็นเรือธงในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของกลุ่ม TU นั่นเอง
ที่ว่าเป็นธุรกรรมลูกกระเตงแม่ เพราะ ITC จะปล่อยกู้ให้กับแม่ TU วงเงินไม่เกิน 11,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ก้อน…ก้อนแรก เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ 3 ปี ต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 3 ปี รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3.10% ต่อปี
ส่วนก้อนที่สอง เป็นเงินกู้หมุนเวียนไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ไม่เกิน 1 ปี ต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากคำนวณ ณ วันที่ 17 ก.ค. 2567 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี บวกอีก 0.10% ต่อปี จะอยู่ที่ 2.60% ต่อปี
โดย ITC กำหนดจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย. 2567 เพื่อขอมติผู้ถือหุ้นในการทำธุรกรรมนี้…ซึ่งถ้าให้เดา ก็คงผ่านฉลุยแหง ๆ…
ส่วนคำตอบของข้อสงสัยที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับแม่ลูกคู่นี้..?? เหตุใด ITC ถึงปล่อยกู้ให้กับแม่ TU..??
พิสูจน์ทราบได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ITC เป็นบริษัทที่มีเงินสดล้นมือ เห็นได้ชัดจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 ที่มีกว่า 10,546.79 ล้านบาท ในขณะที่มีภาระหนี้สินต่ำ โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 2,926.50 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สินหมุนเวียนราว 2,324.60 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 601.90 ล้านบาท
การเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเยอะอย่างนี้ สิ่งที่ CFO ต้องบริการจัดการ อันดับแรก นำไปลงทุนขยายกิจการ แต่เคสของ ITC ซึ่งเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มายังไม่ถึง 2 ปี ตอนนั้นได้เงินระดมทุนไป 19,000 ล้านบาท หลังจากนำไปลงทุน ปรับปรุงโน่นนี่นั่น และเคลียร์หนี้สินต่าง ๆ แล้ว ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ยังเหลือเงินราว 3,041.8 ล้านบาท ก็ยังมีเงินก้อนนี้รับรองการลงทุนใหม่ ๆ
ถัดมา การนำเงินสดไปฝากแบงก์ดอกเบี้ยก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ส่วนนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ดอกเบี้ยก็ไม่สูงมาก ครั้นจะไปลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ก็มีความเสี่ยง
แต่การปล่อยกู้ให้บริษัทแม่แทบไม่มีความเสี่ยง แล้วการปล่อยกู้ครั้งนี้ มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถือเป็นความฉลาดของ ITC เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง สมมตินะสมมติ เกิด ITC มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้เงินก้อนโต ก็สามารถดึงเงินกลับมาได้
และด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.60-3.10% ต่อปี ก็ไม่ต่างจากผลตอบแทนจากตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล
โดย ITC คาดว่าตลอดอายุการปล่อยกู้จะได้ดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1,896 ล้านบาท แบ่งเป็น ดอกเบี้ยจากวงเงินกู้ก้อนแรกจำนวน 1,116 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากวงเงินกู้ก้อนที่สองจำนวน 780 ล้านบาท
ในมุมของ TU ก็ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ ชัดเจนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแพงจนเกินไป เมื่อเทียบกับการไปกู้แบงก์ หรือการออกหุ้นกู้
แล้วถ้าไปดูกระแสเงินสดในกระเป๋า TU ก็มีไม่น้อยนะ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่กว่า 11,877.37 ล้านบาท
ทำไมยังต้องกู้เงินบริษัทลูกเพิ่มอีกล่ะ..?? เอ๊ะ…หรือซุ่มทำดีลใหญ่ป๊ะเนี่ย..??
แต่ดูไปดูมาการที่ ITC ปล่อยกู้ให้กับ TU…ก็ไม่ต่างจากอาหารสัตว์ (เลี้ยง) คนเลยเนอะ..!?
…อิ อิ อิ…