4 ความสมเหตุทำหุ้น SAPPE ร่วงหนัก.!?

ความเชื่อที่ว่า “ผลประกอบการ คือเจ้ามือตัวจริงของราคาหุ้น” นั้น อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป หากนำมาใช้กับหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสวนภาวะตลาด


ความเชื่อที่ว่า “ผลประกอบการ คือเจ้ามือตัวจริงของราคาหุ้น” นั้น อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป หากนำมาใช้กับหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสวนภาวะตลาด หรือไม่ยอมลง ตามภาวะตลาด

ยกตัวอย่าง เคสของหุ้นบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ที่ภายหลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/67 มีกำไรสุทธิเติบโต 31.41% จาก 312 ล้านบาท เป็น 410 ล้านบาท ถือว่าเติบโตมากเมื่อเทียบกับธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อความงาม และสุขภาพนั้น แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลง สวนทางกับผลประกอบการ และสวนทางกับภาวะตลาดที่กลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้อย่างง่ายดาย..

สำหรับสาเหตุที่หุ้น SAPPE ร่วงหนัก มีหลายประเด็นดังนี้..

1)ลักษณะของหุ้นเข้าสูตรตามตำรานักเล่นหุ้นที่ว่า Sell on Fact เนื่องจาก Q2/67 มีกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด 31% พอผลประกอบการออกมา ราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลง

2)นักลงทุนเทขายทำกำไรออกมา เนื่องจากราคาหุ้น SAPPE ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุด ที่ 106.50 บาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค.67 วันที่งบไตรมาส 1/67 ประกาศ และย่อลงมาปิดที่ 97.25 บาท

จากนั้นราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำนิวไฮอีกครั้ง วันที่ 5 มิ.ย. 67 ที่ 107.50 บาท ก่อนงบไตรมาส 2/67 ประกาศ  

นั่นแสดงว่ามีนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง “เชื่อว่า หรือ รู้ว่า” งบไตรมาส 2/67 จะออกมาดีเลยเข้าไปไล่ราคา ไม่เช่นนั้น เราจะไม่เห็นราคาหุ้นถูก Corner และพาขึ้นไปจนทะลุ 100 บาทอย่างง่ายด่าย

นอกจากนี้ช่วงก่อนที่จะมีประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting-19 ส.ค.) 2 วัน หรือหลังจากวันประกาศงบไตรมาส 2/67 (13 ส.ค.) คือช่วงวันที่ 15-16 ส.ค.มีแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก เพียงแค่ 2 วัน ราคาหุ้นหายไป 7 บาท จาก 98 บาท เหลือ 91 บาท 

โดยเหมือนจะรู้ว่าวันถัดไป (19 ส.ค.) ผู้บริหารจะพบนักวิเคราะห์และให้ข้อมูลว่า ไตรมาสถัดไป หรือครึ่งหลังของปีนี้ อาจจะไม่ดีอย่างที่คิดไว้

นั่นจึงเป็นเหตุการณ์ของราคาหุ้น SAPPE ที่ร่วงลงมาก่อนที่จะมี Analyst Meeting ซึ่งการพบนักวิเคราะห์ เป็นแค่คำเฉลย ว่าทำไมหุ้นถึงถูกเทลงมาก่อนหน้านี้ 

ใครละที่เป็น “ไอ้โม่ง” เทขายหุ้น SAPPE ก่อนที่จะพบนักวิเคราะห์..!?

ลักษณะหุ้น SAPPE เป็นหุ้นที่มี bid-offer น้อย ปกติเทรดกันวันละไม่ถึง 1 ล้านหุ้น แต่พอช่วงก่อนงบไตรมาส 2 ออก วอลุ่มเทรดจึงพุ่งเข้ามา 1-2 ล้านหุ้นต่อวัน

ประกอบกับการที่ ราคาหุ้นไปแตะ 100 บวกกับการมี bid น้อย เวลาไหลลงก็ย่อมง่าย ถ้ามีคนเทขายออกมาแค่ 1-2 ล้านหุ้น ก็สามารถทำให้ราคาหุ้นเสียทรง และเกิดอุปทานหมู่ แพนิกเซลออกมาได้

เพราะทุกอย่างถูกควบคุมด้วยแรงซื้อ และแรงขาย ฝั่งไหนเยอะ ราคาหุ้นก็จะเทไปฝั่งนั้น 

3)ราคาหุ้นที่ก่อนหน้านี้ วิ่งขึ้นไป 100 บาท ทุกคนได้กำไรหมด การจะขายหุ้นออกมาซื้อตัวอื่น ๆ ที่ใช้เงินน้อยกว่า ในช่วงที่ตลาดกำลังจะกลับมาคึกคัก ก็ถือว่าไม่แปลก หรือผิดปกติอะไร 

การคาดหวังจะให้หุ้นราคา 90-100 บาท ขึ้นไป 150-200 บาท มันมีความเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลามากกว่า เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนตัวเล่นไปเลือกซื้อหุ้นตัวอื่น ๆ ในตลาดที่มีอีก 800 ตัวให้เลือกที่ใช้เงินซื้อน้อยกว่า แต่ได้หุ้นจำนวนมากกว่า และมีโอกาสได้ upside ที่มากกว่า

เปรียบเทียบง่าย ๆ หุ้นตัวละ 100 บาท ซื้อได้ 1 หุ้น เทียบกับเอาเงิน 100 บาท ไปซื้อหุ้น 1 บาท ได้ 100 หุ้น upsideต่างกันเยอะ

ส่วนการจะคิดถูก หรือคิดผิด ที่ไปเลือกหุ้น 1 บาท ที่พื้นฐานอาจไม่ดีเท่า หุ้น 100 บาท ที่ดีกว่า ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของความคิดนักลงทุนที่ตัดสินใจ แต่รูปการณ์ที่ปรากฏมันเป็นแบบนี้ ขนาดหุ้นผลประกอบการขาดทุน หุ้นพื้นฐานแย่ ยังบวกชน ceiling เลย นับภาษาอะไร

และคงไม่มีใครจะไปบีบความคิดไม่ให้ขายหุ้น 100 บาท เพื่อเปลี่ยนไปเล่นหุ้น 1 บาทที่พื้นฐานแย่กว่าเพราะทุกคน เล่นหุ้นหวังส่วนต่างเปอร์เซ็นต์ของกำไรสูง ๆ กันทั้งนั้น

4)ช่วงที่ SET INDEX ทำโลว์สุดของรอบนี้ อยู่ที่ 1,274 จุด (5 ส.ค.) วันเดียวกัน ราคา SAPPE ปิดที่ 88.50 บาท 

นั่นหมายความว่า ตอนที่หุ้นในตลาดทุกตัวลง 40-50% แต่หุ้น SAPPE ไม่ลง ซึ่งก็ไม่อยากจะคาดเดาว่าเหตุผลมาจากการ corner หรือเปล่า? เพราะรู้ว่าผลประกอบการไตรมาส 2/67 จะออกมาดีมาก

จนเป็นที่มาของแรงเทขายหุ้นเมื่อตลาดฟื้นกลับมา

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ ผู้ลงทุนควรรู้ และควรทำความเข้าใจกับปัจจุบันของโลกแห่งการลงทุน..!!

ธิติ ภัทรยลรดี

Back to top button