Thailand Focus ชู Long Term Fund ดึงความเชื่อมั่น ‘ต่างชาติ’
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีกองทุนรวม Passive Fund ต่างประเทศ ที่ลงทุนจากการถ่วงน้ำหนักของดัชนี MSCI Emerging Market ในตลาดหุ้นไทย สูงสุดช่วงกลาง ปี 2018
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีกองทุนรวม Passive Fund ต่างประเทศ ที่ลงทุนจากการถ่วงน้ำหนักของดัชนี MSCI Emerging Market ในตลาดหุ้นไทย สูงสุดช่วงกลาง ปี 2018 จำนวน 2.4% หรือคิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1.89 แสนล้านบาท (36.5 บาท:เหรียญสหรัฐ)
โดยมีหุ้นไทยที่ถูกดึงเข้าไปถ่วงน้ำหนักในตระกร้าของ MSCI EM มากถึงประมาณ 45-48 บริษัท โดยตอนนั้น SET INDEX อยู่ที่ประมาณ 1,750 จุด
หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2023 น้ำหนักของ MSCI EM ของประเทศไทยก็ลดลงเหลือ 2.2%
ซึ่งช่วงนั้น ดัชนีก็ลดลงตาม เหลือ 1,680 จุด
จนมาปัจจุบันในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 น้ำหนักของ MSCI EM ลดลงเหลือ 1.67% ดัชนีลงมาที่ 1,370 จุด
ล่าสุดที่เพิ่งมีการประกาศ รายชื่อหุ้นเข้าออก ของ MSCI โดยมีผลสิ้นเดือน สิงหาคม 2024 เหลือหุ้นไทยอยู่ใน MSCI เพียงแค่ 28 บริษัทเท่านั้น ซึ่งแน่นอนเลยว่า สัดส่วนการลงทุนของ MSCI EM ในไทยต้องลดลงต่ำกว่า 1.50 % อย่างแน่นอน
โดยแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ หากไม่มีการแก้ไขปัญหา การไหลออกของฟันด์โฟลว์
กฎหลักของ MSCI จะดูที่สภาพคล่องมี bid-offer ให้ซื้อขายมากแค่ไหน รวมถึงดู market cap ว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่
แนวทางการแก้ไขปัญหา ส่วนหนึ่งอยู่ที่ การเพิ่มสภาพคล่องเม็ดเงินลงทุนจากผู้ลงทุนในประเทศให้มีการลงทุนระยะยาว และต้องมี Long Term Fund ให้เพิ่มมากขึ้น
หากยังจำได้ ในปี 2004 ที่เริ่มมี Long Term Fund จาก 5 พันล้านบาท ขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนในปี 2017-2018-2019 เฉลี่ยปีละ 6.8 หมื่นล้านบาท ทำให้น้ำหนักของการลงทุนของ MSCI ในตลาดหุ้นไทย เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
แม้ช่วงตั้งแต่ปี 2004-2019 จะมีวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับตลาดทั่วโลก และตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
มีหลายเหตุการณ์ ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปหนัก ๆ แต่สุดท้ายก็จะกลับขึ้นมา เพราะมีแรงรับจาก Long Term Fundในประเทศ เข้ามารับไม้ต่อจาก แรงขายของนักลงทุนต่างชาติ
พอจังหวะช่วงที่วิกฤติต่างประเทศ เริ่มเบาบางลง ปัญหาต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย เม็ดเงินที่ไหลออกไปก่อนหน้านี้ ก็จะกลับเข้า Fund flow ก็จะกลับมาเลือกลงทันหุ้นไทยอีกครั้ง แบบนี้เรื่อยมา
เนื่องจากมองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีสภาพคล่อง และมีความแข็งแรง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในยุโรป หรืออเมริกา
โดยมีกองทุนในประเทศเข้ามาซัพพอร์ตอยู่ ก็จะได้รับความสนใจมากกว่า
ในทางกลับกัน หากปล่อยให้ดัชนีและสภาพคล่อง หดหายไป เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้ตลาดหุ้นยิ่งลง น้ำหนักยิ่งลด ทำให้ตลาด outperform และขาดความน่าไปสนใจไปในที่สุด
การสร้าง Long Term Fund ในประเทศ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งให้เกิดขึ้น
วิธีการดังกล่าว จะทำให้สัดส่วน ของนักลงทุนต่างชาติ กลับมาอยู่ที่ 1 ใน 3 ของผู้ลงทุนรายกลุ่ม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของวอลุ่มเทรดรายวัน จะกลับมาที่มากกว่า 6-7 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ไม่ใช่สัดส่วนต่างชาติ เกิน 50% วอลุ่มเทรดเฉลี่ย 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวันแบบในปัจจุบัน
รวมถึงสิ่งที่สำคัญ ที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ เศรษฐกิจภายในประเทศก็ต้องเติบโตตามไปด้วย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
การนำ TESG และ กองทุนวายุภักษ์ กลับมา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ รมว.คลัง และ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรนำไปบอกกล่าว และอธิบายให้ กองทุนต่างประเทศ ที่จะมาร่วมงาน Thailand Focus 2024 ในวันที่ 28-30 ส.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ได้รับทราบเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีเสถียรภาพ และสภาพคล่อง เหมาะที่จะเป็นตัวเลือกในการลงทุน ไม่แพ้ตลาดหุ้น จีน เวียดนาม หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตจากนี้ไป
ธิติ ภัทรยลรดี