NGO ขั้วเคลื่อนทายท้าวิชามาร

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.ออกประกาศมาตรา 44 งดใช้ผังเมืองกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและโรงไฟฟ้า ซึ่งทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนคึกคักขึ้นทันตา แต่วันถัดมา ก็มีนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีนับพันออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


 ใบตองแห้ง

 

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.ออกประกาศมาตรา 44 งดใช้ผังเมืองกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและโรงไฟฟ้า ซึ่งทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนคึกคักขึ้นทันตา แต่วันถัดมา ก็มีนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีนับพันออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ถ้ามองผ่านการเมืองระดับบนลงไปถึงการเมืองเรื่องปากท้อง จะพบว่าวันนี้ภาคธุรกิจเอกชนกำลังนิยมชมชื่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุคสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งออกมาตรการเอื้อภาคธุรกิจมากมาย ขณะที่ภาคธุรกิจก็เข้าร่วมผลักดันนโยบาย “ประชารัฐ” ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 12 คณะ

ขณะที่ภาคประชาสังคม หรือเรียกง่ายๆ ว่า NGO กลับถอยห่างขวางหูขวางตารัฐบาล ทั้งที่คนเหล่านี้ 70-80% เคยเคลื่อนไหวกับพันธมิตรนกหวีด บางส่วนยังเข้ามาเป็น สปช. แต่ตอนนี้กลับชูธงต้าน “ทักษิณคิด-ประยุทธ์ทำ” โดยจับประเด็นร้อน เขตเศรษฐกิจพิเศษ “ให้นายทุนเช่าที่หลวง 99 ปี”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ NGO ขัดแย้งรัฐบาลทหาร (เรื่องแปลกคือทำไม NGO ไม่เอาเลือกตั้ง นั่นต่างหาก) เพราะยุครัฐราชการเป็นใหญ่ มักเดินหน้าผลักดันนโยบายโดยไม่ฟังเสียงประชาชน พูดอย่างนี้ไม่ใช่ NGO ถูกทุกอย่าง เพราะบางครั้งก็ดันทุรังค้านสุดโต่ง แต่รัฐทหารก็ใช้อำนาจแบบไม่สนใจใคร เช่นนโยบายทวงคืนผืนป่า ไล่ชาวบ้านทั้งที่เคยทำข้อตกลงกันมาหลายรัฐบาล

มาตอนนี้เมื่อรัฐบาลจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษและโรงไฟฟ้า จึงกระทบประชาชนโดยตรง เพราะหลายพื้นที่กำลังรณรงค์ต่อต้านโดยมี NGO เชื่อมประสาน

ซ้ำร้าย คสช.ยังออกคำสั่งปลดบอร์ด สสส. คตร.สั่งระงับโครงการเกือบสองพันล้าน สตง.สั่งสรรพากรเรียกภาษีย้อนหลัง แม้นายกฯ ขอโทษ เพราะสมคิดยังต้องใช้เครือข่าย สสส.ผลักดันนโยบายประชารัฐ แต่แก้วร้าวคงกลับไปเหมือนเดิมได้ยาก

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปกป้องเครือข่าย สสส. NGO ข้าใครอย่าแตะ เพราะบางเรื่องพวกนี้ก็เว่อร์เกิน แต่ประเทศไม่สามารถเดินไปตามแรงผลักดันของรัฐทหารกับภาคธุรกิจ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากประชาชนและภาคประชาสังคม

ประเด็นสำคัญยังเป็นอย่างที่เคยวิเคราะห์กันตั้งแต่ต้นปีว่า ปีนี้เศรษฐกิจระดับบนจะโต แต่ภาคเกษตรยังย่ำแย่ จะมีความเหลื่อมล้ำสูง นโยบายรัฐบาลที่จับต้องได้ ถูกมองว่าเอาใจคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี เช่นลดภาษี ช้อปช่วยชาติ ขณะที่ชนบทแม้อัดฉีดกองทุนหมู่บ้าน ตำบลละ 5 ล้าน แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถใช้เงินพยุงราคาพืชผลทั้งหมด ขณะที่ยังไปสั่งห้ามทำนา เข้าไปจัดการหลายอย่างแบบไม่เข้าใจปัญหา

ถ้าดูแค่ปากท้อง คะแนนนิยมรัฐบาลในชนบทไม่ได้ดีขึ้น แค่คนชนบทไม่สามารถแสดงออก กองทุนหมู่บ้านไม่ช่วยอะไร เพราะหนีไม่พ้น “ประชานิยมของทักษิณ” ถ้าผนวกเรื่องการเมือง ในภาคเหนือภาคอีสานยิ่งไปกันใหญ่

โชคดีอย่างที่ NGO ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่าที่ 99 ปี ต้านโรงไฟฟ้า ปัญหาพลังงาน ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็น “เหลือง” ขณะที่พวก “แดง” ไม่มีฐานการเคลื่อนไหวด้านนี้ และ 2 ขั้วยังไม่มีทางร่วมกันได้ง่ายๆ

แต่ในภาพรวมคือ การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลจะถูกโจมตีจาก NGO และพันธมิตรฯ เดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ทักษิณคิด-ประยุทธ์ทำ” “เอาใจนายทุน” ขณะที่พวก “แดง” ก็ไม่ได้พึงพอใจกับการอัดฉีด “ประชานิยม-ประชารัฐ” โดยยังคงต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความไม่ยุติธรรม และร่างรัฐธรรมนูญ กระหนาบกันไป                                                                                                        

 

Back to top button