อากาศร้อนระอุ.! & ไวน์ยุโรประส่ำ
ปรากฏการณ์ “อุณหภูมิสูงผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นทั่วภาคพื้นยุโรป กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่กับการปลูกองุ่นพันธุ์พื้นเมือง Assyrtiko ที่มีความสำคัญต่อการผลิตไวน์ขาวชั้นดี
ปรากฏการณ์ “อุณหภูมิสูงผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นทั่วภาคพื้นยุโรป กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่กับการปลูกองุ่นพันธุ์พื้นเมือง Assyrtiko ที่มีความสำคัญต่อการผลิตไวน์ขาวชั้นดีที่ได้รับการยอมรับจากบรรดานักลิ้มรสไวน์ ระดับนานาชาติของเกาะซานโตรินี ประเทศกรีซ
ปี 2566 ที่ผ่านมา ผลผลิตจากโรงบ่ม Gaia Wines อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 จากผลผลิตช่วงปี 2565 แต่มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตช่วงปี 2567 จะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 6 ของผลผลิตช่วงปี 2566
Yiannis Paraskevopoulos เจ้าของโรงบ่มไวน์ Gaia Wines ระบุว่า สถานการณ์ปี 2567 เลวร้ายกว่าที่คาดไว้ทุกประการ ส่งผลกระทบให้การคาดการณ์ปี 2566 ที่ประเมินว่าองุ่นพันธุ์ Assyrtiko อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2583 แต่ดูจากสถานการณ์ล่าสุดอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นก็เป็นได้
ข้อมูลจากองค์กรผู้ประกอบการไร่องุ่นและผู้ผลิตไวน์นานาชาติ (International Organisation of Vine and Wine : OIV)ระบุว่า องุ่นพันธุ์ Assyrtiko ไม่ใช่องุ่นพันธุ์เดียวที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์
โดยปี 2566 ปริมาณการผลิตไวน์ทั่วโลกลดลงประมาณ 10% เหลือเพียง 237.3 ล้านเฮกโตลิตร ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดรอบกว่า 60 ปี เนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศอย่างรุนแรง
จากปัญหาที่โรงบ่มไวน์ต้องเผชิญเป็นแรงกระตุ้นให้สหภาพยุโรปจัดตั้งกลุ่มควบคุมนโยบายไวน์ระดับสูง ช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ สำหรับภาคส่วนดังกล่าว
โดยปริมาณการผลิตไวน์ของประเทศกรีซช่วงปี 2566 ลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ขณะที่ผลผลิตจากอิตาลีและสเปนลดลงมากกว่า 1 ใน 5 เนื่องจากโรงบ่มไวน์ในยุโรปตอนใต้ ต้องเผชิญกับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนัก, ภัยแล้งและน้ำค้างแข็ง ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติและอาจส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวองุ่นปีต่อ ๆ ไปอีกด้วย
ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าจากโรงบ่ม Castello di Volpaia ระบุว่าโรงบ่มไวน์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและคุณภาพของไวน์เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ International Organisation of Vine and Wine ประเมินว่า ผลผลิตที่ลดลงและสภาวะการผลิตที่มีความท้าทายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้การบริโภคไวน์ปี 2566 มีอัตราลดลง 2.6% ต่อปี ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายสูง ส่งผลให้ราคาสำหรับผู้บริโภคสูงขึ้นไปด้วย
ปัจจุบันผู้ผลิตไวน์หลายราย กำลังพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต เพื่อปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
โดยโรงบ่ม Antinori nel Chianti Classico โรงบ่มแห่งล่าสุดจากครอบครัว Antinori หนึ่งในผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของอิตาลี เลือกวิธีปลูกองุ่นทิศทางใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงแดดมากขึ้น ด้วยการให้องุ่นหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
พร้อมยกโครงไม้ระแนงให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศและการปลูกหญ้าระหว่างเถาองุ่น วิธีการเหล่านี้ช่วยทำให้คุณภาพการผลิตดีขึ้นได้ แม้ปริมาณการผลิตจะลดลงก็ตาม
ขณะที่ Sergio Fuster ซีอีโอ Raventós Codorniu กลุ่มผู้ผลิตไวน์สัญชาติสเปน ระบุว่า ไร่องุ่นหลายแห่งที่บริษัทเป็นเจ้าของ กำลังตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้ระบบชลประทานใต้ดิน ที่เป็นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แหละนี่ปรากฏการณ์สำคัญ ที่มีผลต่อ “อุตสาหกรรมไวน์ยุโรป” ที่บรรดาโรงบ่มไวน์ทุกแห่งกำลังเร่งปรับตัวอย่างหนัก เพื่อฝ่าวิกฤติดังกล่าว..แน่นอนระหว่างนี้เอง บรรดา “คอไวน์” อาจต้องจ่ายแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..!?