ทำความรู้จัก Dynamic Price Band
วันที่ 2 กันยายน 2567 นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการนำ 3 มาตรการยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุนออกมาใช้เพิ่มเติม
เส้นทางนักลงทุน
วันที่ 2 กันยายน 2567 นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการนำ 3 มาตรการยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุนออกมาใช้เพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.Dynamic Price Band (DPB) 2.Auction และ 3.Minimum Resting Time ซึ่งมาตรการเหล่านี้ นักลงทุนควรรู้และทำความเข้าใจอย่างยิ่ง
โดย Dynamic Price Band (DPB) หรือมาตรการกำหนดกรอบเคลื่อนไหวของราคาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ระหว่างวัน เป็นมาตรการที่จะเข้ามาช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น ไม่ให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการสร้างราคา หรือการปั่นหุ้น รวมถึงจะช่วยให้นักลงทุนมีเวลาตัดสินใจซื้อขายได้มากขึ้นด้วย
มาตรการนี้จะนำมาบังคับใช้กับหลักทรัพย์ทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่มีราคามากกว่า 1 บาท ยกเว้นหุ้นที่มีเหตุอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ รวมทั้งหุ้นใหม่ หรือหุ้นไอพีโอ ที่เข้าซื้อขายวันแรก เนื่องจากหุ้นใหม่ยังต้องหาฐานราคาที่เหมาะสมก่อน
กลไกการทำงานของ Dynamic Price Band นั้น กำหนดเงื่อนไขการ Trigger คือ เมื่อมีคำสั่งซื้อหรือขายที่จะทำให้จับคู่นอก DPB หรือที่เรียกว่า “Aggressive Order” ระบบซื้อขายจะหยุดจับคู่หลักทรัพย์นั้น ทั้งนี้กำหนด DPB ไว้ที่ +/-10% จากราคาซื้อขายล่าสุด
ลักษณะการทำงานก็คือ ระบบจะยกเลิก “Aggressive Order” เฉพาะในส่วนของคำสั่งที่ทำให้ Trigger จากนั้นจะเข้าสู่ Per-Open 2 นาที ซึ่งผู้ลงทุนสามารถส่ง/แก้ไข/ยกเลิก Order ได้
หากเหลือเวลาไม่ถึง 2 นาที จะเข้าสู่ Session ถัดไปทันทีโดยไม่มีการจับคู่ ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ใช้จะเป็นทุกช่วงเวลา ยกเว้น Pre-Open และ Pre-Close
มาตรการ Dynamic Price Band หรือ DPB ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 จะเป็นเฟส (Phase) ที่ 1 โดยหลักทรัพย์และสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าที่จะใช้ DPB ได้แก่ หุ้นสามัญและหน่วยทรัสต์ เช่น REIT, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม เช่น Property Fund ที่มีราคามากกว่าหรือเท่ากับ 1 บาท ซึ่งจะไม่รวมหลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ข้างต้นเป็น Underlying เช่น DW, หลักทรัพย์ที่ซื้อ-ขายแบบหน่วยย่อย (Odd-Lot) และหลักทรัพย์กระดานต่างประเทศ (Foreign)
ส่วนเฟส 2 น่าจะเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ได้แก่ หลักทรัพย์ที่ใช้ DPB ในเฟส 1, หลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ข้างต้นเป็น Underlying เช่น DW, หลักทรัพย์ที่ซื้อ-ขายแบบหน่วยย่อย (Odd-Lot) และหลักทรัพย์ Foreign รวมถึง Single Stock Futures ที่มีหุ้นที่หยุดการซื้อ-ขายชั่วคราวตามมาตรการ DPB เป็น Underlying ที่จะเข้าสู่มาตรการ DPB เช่นเดียวกับหุ้นอ้างอิง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหวังว่า Dynamic Price Band จะช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น และควบคุมพฤติกรรมการซื้อ-ขายที่ไม่เหมาะสมให้เกิดขึ้นน้อยลง ขณะที่ราคาหุ้นจะไม่เหวี่ยงแรงและเร็วเกินไป ดังนั้นนับจากนำมาตรการดังกล่าวออกมาใช้ จะไม่ได้เห็นภาพราคาหลักทรัพย์พุ่งขึ้น Ceiling หรือดิ่ง Floor ในระยะเวลารวดเร็วอีก เพราะ DPB จะค่อยกระตุก หรือช่วยแตะเบรกราคาหลักทรัพยไว้ ซึ่งมาตรการนี้จะครอบคลุมการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT ด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรการกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ +/-10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์ดังกล่าว เป็นมาตรการเพิ่มเติมจาก Ceiling & Floor ในปัจจุบัน ที่กำหนดให้ +/-30% จากราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า
นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ยังจะมีการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป โดยใช้วิธีจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) แทนการจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติ จากเดิมมาตรการระดับ 2 กำหนดให้ซื้อด้วยบัญชี cash balance, ห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และห้าม Net Settlement (เปลี่ยนจากจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติ เป็น Auction)
ขณะที่ มาตรการระดับ 3 กำหนดห้ามซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการ (เฉพาะวันแรก) จากนั้นเมื่ออนุญาตให้ซื้อขายได้ จะต้องซื้อด้วยบัญชี cash balance, ห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และห้าม Net Settlement (เปลี่ยนจากจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติ เป็น Auction)
ทั้งนี้ การซื้อขายด้วยวิธี Auction นั้น Auction Matching เปิดจับคู่ซื้อขายวันละไม่เกิน 3 รอบ คือ Pre-Open 1, Pre-Open 2 และ Pre-Close โดยสุ่มเวลาจับคู่ (Random) เหมือนหุ้นปกติ ส่วนช่วง No-matching 1 และ No-matching 2 ไม่เปิดให้ส่ง Order แต่สามารถอัพเดท (Update), ยกเลิก (Cancel Order) และส่ง Trade Report ได้ อย่างไรก็ตาม Auction จะไม่ใช้กับ DW และ SSF
นอกจากนี้ นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ยังจะมีการกำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขาย (Minimum Resting Time) โดยคำสั่งซื้อขายต้องคงอยู่ในระบบอย่างน้อย 250 มิลลิวินาที จึงจะแก้ไขหรือยกเลิกได้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อขายอีกด้วย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศใช้มาตรการเข้มข้นต่าง ๆ เพิ่มเติมออกมาในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นส่งสัญญาณขาขึ้น ทำให้มีความกังวลว่าอาจจะเป็นปัจจัยกระตุกให้ตลาดหุ้นไทยที่เริ่มติดเครื่องแล้วเดินหน้าไปไม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันว่าจะยังคงแผนในการใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป แต่จะทำการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง