OSP ทิ้งโรงขวดพม่า.!

ย้อนไปช่วงต้นปี 2564 ข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกจับจ้อง หนีไม่พ้นเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา หรือที่หลายคนยังเรียกติดปากว่าพม่า


ย้อนไปช่วงต้นปี 2564 ข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกจับจ้อง หนีไม่พ้นเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา หรือที่หลายคนยังเรียกติดปากว่าพม่า ของช่วงเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกองทัพทหารพม่า นำโดย “พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ “นางออง ซาน ซู จี”…

โอเค…แม้เป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่กระทบชิ่งมายังกลุ่มทุนธุรกิจไทยที่เข้าไปขุดทองในเมียนมา เพราะมีการแซงก์ชันจากหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะจากสรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ทำให้บริษัทไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาทำธุรกรรมยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร..!!

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ซึ่งนอกจากไปลงทุนธุรกิจผลิตเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ยังไปลงทุนในธุรกิจผลิตขวดแก้ว ผ่านบริษัท เมียนมาร์ โกลเด้น อีเกิ้ล จำกัด (MGE) ถือหุ้นสัดส่วน 35% และธุรกิจจัดจำหน่ายขวดแก้ว (OEM) ผ่านบริษัท เมียนมาร์ โกลเด้น กลาส จำกัด (MGG) ถือหุ้นสัดส่วน 51.84%

โดยธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายขวดแก้ว OSP เข้าไปลงทุนช่วงปี 2563 มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 1,213.60 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดหาเงินทุนโดยออกหุ้น (Equity Financing) จำนวน 14.2 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 430.82 ล้านบาท การจัดหาเงินทุนโดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 25.8 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 782.77 ล้านบาท

ตอนนั้น OSP มองว่าการผลิตและจัดจำหน่ายขวดแก้วในรูปแบบ OEM เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจในเมียนมา แถมยังช่วยซัพพอร์ตธุรกิจหลักได้อีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร…เพียงแต่สิ่งที่คาดไม่ถึง พอเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

กรณีเมียนมากลายเป็น Overhang ของหุ้น OSP ไปโดยปริยาย ซึ่งหยิบขึ้นมาเมื่อไหร่..?? ก็สะดุ้งทุกครั้ง แม้สัดส่วนจะไม่มาก แต่กระทบในเชิงของภาพลักษณ์ เนื่องจาก OSP เป็นบริษัท World Wide ค้าขายกับหลายประเทศทั่วโลก…

สุดท้ายเยื้อไม่ไหว เลยเป็นที่มาของการถอนสมอจากตลาดพม่า..!! ด้วยการขายธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายขวดแก้วให้กับบริษัท Marlarmyaing Public Company Limited คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านเมียนมาจัต หรือประมาณ 810 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไข MGE Group จะไม่มีภาระผูกพันจากการกู้ยืม (Debt-free) ณ วันโอนหุ้น และการจำหน่ายต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เป็นการปลดล็อก Overhang ออกไป…

แต่เนื่องจากมีการประเมินกันว่า ธุรกรรมขายเงินลงทุนดังกล่าว OSP จะต้องบันทึกขาดทุนราว 700–800 ล้านบาท..!!

เลยทำให้วานนี้ (2 ก.ย. 2567) นักลงทุนพากันขายหุ้น OSP กันมือระวิง ส่งผลให้ราคาระหว่างวันทรุดไปต่ำสุดที่ 20.50 บาท ก่อนจะปรับขึ้นมาปิดตลาดที่ 20.90 บาท ปรับลดลง 6.70% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 786.96 ล้านบาท

ขณะที่ นักวิเคราะห์ประเมินว่า จะกระทบระยะสั้นเท่านั้น โดยบล.ดาโอ ระบุว่า การจำหน่ายเงินลงทุนในธุรกิจโรงแก้วในเมียนมาเป็นไปตามแผนของบริษัท โดยในปี 2567 จะโฟกัสใน core business ซึ่งมองว่าการขายธุรกิจโรงแก้วในเมียนมาจะเป็นผลลบระยะสั้น แต่จะส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากช่วยลดภาระการขาดทุนจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าการขายธุรกิจโรงแก้วในเมียนมา ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเครื่องดื่มในเมียนมา เนื่องจากสินค้าเครื่องดื่มในเมียนมาอยู่ในรูปแบบกระป๋อง และธุรกิจโรงแก้วในเมียนมารับผลิตและจัดจำหน่ายขวดแก้ว OEM โดยคาดรายได้ธุรกิจเครื่องดื่มในเมียนมาในไตรมาส 3/2567 ยังคงเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนตามฤดูกาล

นั่นแปลว่า สั้นร้าย…แต่ยาวดีใช่มั้ย..?? ระวังจะขายหมูกันน้า…

ส่วนอีกช็อตที่น่าสนใจ การขายโรงแก้วของ  OSP น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาอ๊ะป่าว..?? เพราะยังมีอีกหลายธุรกิจที่ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน รวมทั้งธุรกิจยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ซึ่งไปลงทุนในเมียนมาเช่นกัน จะเอายังไงกับตลาดนี้…

ต้องจับตาว่า MEGA จะเป็นไอ้เสือถอยหรือเปล่า..?? เดี๋ยวก็รู้..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button