พาราสาวะถี

ยืนยันมาจาก แพทองธาร ชินวัตร โผ ครม.นิ่งแล้วคาดว่าน่าจะนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในสัปดาห์นี้อย่างช้าไม่เกินสัปดาห์หน้า


ยืนยันมาจาก แพทองธาร ชินวัตร โผ ครม.นิ่งแล้ว คาดว่าน่าจะนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในสัปดาห์นี้ อย่างช้าไม่เกินสัปดาห์หน้า นั่นหมายความว่า คุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อไม่มีปัญหา เพราะกระบวนการตรวจสอบที่ใช้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ดูแล มีกูรูด้านกฎหมายอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และ วิษณุ เครืองาม ร่วมตรวจสอบด้วย หากไม่มีใครติดขัดนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า บุคคลที่แต่ละพรรคเสนอมาสามารถนั่งเป็นเสนาบดีในรัฐบาลแพทองธาร 1 ได้

อย่างไรก็ตาม ชูศักดิ์ ศิรินิล ว่าที่มือกฎหมายประจำรัฐบาล ย้ำเพื่อดับข่าวที่ระบุมีว่าที่รัฐมนตรี 11 รายที่มีคำร้องอยู่ที่ ป.ป.ช.หรือศาลว่า ยังไม่มีใครที่ทำผิดหรือถูกชี้มูล ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณสมบัติ น่าคิดตรงประเด็นที่ว่า การมีคนแห่ไปร้องทั้งองค์กรอิสระและศาล หลังตั้งรัฐบาลแพทองธารนั้น เป็นเรื่องการเมืองแบบไทยสไตล์ล้วน ๆ ยิ่งกรณี “จริยธรรม” อาจเป็นเรื่องที่ร้องไม่จบ น่าห่วงว่า ท้ายที่สุดก็ติดหล่มอะไรบางอย่างไป ประเทศก็เดินไม่ได้เหมือนกัน

ไม่ว่าจะอย่างไร หลังกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น แกนนำในพรรคเพื่อไทยยังเชื่อมั่นว่า อุ๊งอิ๊งจะสามารถนั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.นัดแรกได้ภายในกลางเดือนนี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศให้ทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรก็จะมีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระสองและสาม ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายนนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันครั้งแรกในฝ่ายนิติบัญญัติของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์

สิ่งที่น่าจับตามอง ไม่ใช่ประเด็นการอภิปรายที่แกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนจองกฐินจะซักฟอกเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นด้านหลัก รวมไปถึงงบของกองทัพและกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว แต่เป็นท่วงทำนองของ 4 สส.ของพรรคเก่าแก่ที่นำโดย ชวน หลีกภัย จะอภิปรายกันออกมาแบบไหน เช่นเดียวกันกับ 18 สส.พลังประชารัฐที่ถือหางคนบ้านในป่า จะแสดงท่าทีความเป็นฝ่ายค้านอย่างชัดเจนเลยหรือไม่ หรือส่วนใหญ่จะแทงกั๊ก 

มากไปกว่านั้น ต้องรอดูเสียงเวลาโหวต ซีกรัฐบาลมั่นใจว่าจะมี สส.ยกมือหนุน 320 เสียงเป็นอย่างต่ำ 4 เสียงของพรรคเก่าแก่จะโหวตสวนหรืองดออกเสียง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลแต่ไปกันไม่หมดทั้งพรรค ทว่ายังทำงานอยู่พรรคเดียวกันได้ นั่นเป็นเพราะ อานิสงส์ของรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจที่วางกลไกไว้ การตัดสินใจออกเสียงในสภาถือเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัวของ สส.ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับมติพรรค

ขณะเดียวกัน ปัญหาของประชาธิปัตย์คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เวลานี้ฝ่ายที่นำพาพรรคไปทำงานซีกบริหาร ก็หวังที่จะสร้างความนิยม สะสมกระสุน ดูแลฐานเสียง เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เมื่อถึงเวลานั้นค่อยกลับมาว่ากันอีกทีจะเดินกันต่อยังไง น่าจับตาคงเป็น 18 เสียงของพรรคสืบทอดอำนาจมากกว่า หลังจากนี้จะยังคงภักดีกับคนบ้านในป่า ลุยงานการเมืองแบบถึงไหนถึงกันหรือไม่

การโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ครั้งนี้ น่าจะทำให้ถอดสัญญาณของคนเหล่านั้นได้ ถ้ายกมือหนุนก็เท่ากับว่าตัวอยู่กับพี่ใหญ่ แต่ใจไปกับก๊วนของ ธรรมนัส พรหมเผ่า เรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามที่ผู้กองมันคือแป้งว่า อยู่กันไปอย่างนี้ ส่วนหลังจากหมดสมัยของรัฐบาลแล้ว ใครจะไปสังกัดพรรคไหน ค่อยว่ากันอีกที ดูจากโควตารัฐมนตรีที่ปรากฏ ทีมงานธรรมนัสแนวโน้มน่าจะไปสังกัดพรรคกล้าธรรม ที่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นั่งหัวหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาพื้นที่ทับซ้อน หากจะย้ายไปสังกัดเพื่อไทย

ส่วนกลุ่มที่ตามมาทีหลังโดยเฉพาะทีมงานของ สันติ พร้อมพัฒน์ ค่อนข้างชัดว่าคงยกโขยงกลับเพื่อไทย อยู่ที่การประเมินสถานการณ์ และกระแสในห้วงก่อนถึงเวลาเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ด้านพรรคสืบทอดอำนาจเมื่อบารมีของพี่ใหญ่หดหาย ไม่สามารถกลับมามีแสง แสดงอำนาจอันยิ่งใหญ่ได้อีกแล้ว ก็รอแค่เวลาที่จะวางมืออย่างเป็นทางการเท่านั้น ก็ถือเป็นเวลาที่จะต้องรูดม่านปิดฉากพรรคของเผด็จการสืบทอดอำนาจ คสช.ไปเช่นเดียวกัน

ฟากแกนนำฝ่ายค้านอย่างประชาชน หลังก้าวไกลถูกยุบหวังจะใช้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหลายจังหวัดเป็นบทพิสูจน์ศรัทธา ความนิยม ด้วยการคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ล่าสุดกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี พรรคส่ง ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ชนกับเจ้าของตำแหน่งเดิม “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา ผลปรากฏว่าปราชัยให้กับแชมป์เก่าแบบขาดลอยกว่า 6 หมื่นคะแนน ซึ่งแกนนำพรรคยังมองแง่ดีว่า คะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นกว่าครั้งที่ลงสนามหนที่แล้วถึงเท่าตัว

จากนี้ก็เหลือการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก ที่จะเป็นการวัดกันระหว่างเพื่อไทยกับพรรคประชาชน ฝ่ายกุมอำนาจรัฐที่ต้องการจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ กับฝ่ายที่เล่นกับกระแส และมีคะแนนนิยมดีมาต่อเนื่องตั้งแต่หลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ใครจะเข้าวิน หากตัวแทนของพรรคแกนนำฝ่ายค้านพ่ายแพ้ จะถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้บริหารพรรค การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมานั้นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป อีกด้านก็จะเป็นบทพิสูจน์ที่ว่าพรรคนายใหญ่ วางแผนแก้เกมมาดี และน่าจะส่งผลไปถึงเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

ที่แน่ ๆ นอกเหนือจากการตั้งรับกับเกมทำลายคู่แข่งเหมือนที่ผู้สมัครของเพื่อไทยหลายพื้นที่เคยเจอมาในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ยังมีการกำชับถึง สส.โดยเฉพาะบรรดาคนรุ่นใหม่ ไม่ให้มีการสาดโคลนหรือโจมตีพรรคคู่แข่ง เพราะหวั่นว่าจะไปเข้าทาง เรียกคะแนนสงสาร แล้วเกิดกระแสตีกลับ ส่วนการตอบโต้กันไปมากับพวก สส.รุ่นเก๋าของพรรคนั้น คนเหล่านี้ไม่น่าห่วง ส่วนใหญ่เป็นพวกอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ หลายรายก็เตรียมที่จะปลดระวางจึงไม่มีอะไรจะเสีย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นมีการสั่งเกาะติดศึกอภิปรายงบฯ รอบนี้ หากมีอะไรพาดพิงไปถึงนายกฯ คนใหม่ ให้ในสภาโต้กลับทันที โดยที่หัวหน้าและทางพรรคจะชี้แจงตามหลัง

อรชุน

Back to top button