พาราสาวะถี

ติดตามกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ดูเหมือนจะล่าช้า แต่ความจริงแล้ว ทุกอย่างยังอยู่ในกรอบเวลาที่แกนนำพรรคเพื่อไทยได้วางไทม์ไลน์ไว้ทั้งหมด


ติดตามกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ดูเหมือนจะล่าช้า แต่ความจริงแล้ว ทุกอย่างยังอยู่ในกรอบเวลาที่แกนนำพรรคเพื่อไทยได้วางไทม์ไลน์ไว้ทั้งหมด เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ไร้ปัญหาคุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานร่วมกัน นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองมีความมั่นใจ จะไม่ตกม้าตายเหมือน เศรษฐา ทวีสิน ก็พร้อมเดินหน้าลุยงานทันที หากไม่มีอะไรผิดพลาดตามที่วางกำหนดการไว้ จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในวันที่ 11 กันยายนนี้

โดยการประชุม ครม.หลังถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อลงมติเคาะนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาจะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก แต่ไม่ใช่การประชุม ครม.นัดแรกอย่างเป็นทางการ ซึ่งการประชุมที่อุ๊งอิ๊งจะนั่งหัวโต๊ะเพื่อนำรัฐนาวาขับเคลื่อนนโยบายนั้น ถึงตอนนี้ยังกำหนดไว้เหมือนเดิมคือ 17 กันยายนนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันดังกล่าว เท่าที่มีการถกกันในส่วนของเพื่อไทยคือ ความชัดเจนในเรื่องนโยบายสำคัญของพรรคอย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต จะได้รู้กันว่าเดินหน้ากันแบบไหน

ที่คึกคักเป็นพิเศษคงจะเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษาหรือกุนซือทางการเมืองของแพทองธาร จะจัดเต็มขนาดไหน อดีตนายกฯ สองรายทั้ง ทักษิณ ชินวัตร และเศรษฐา จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยงานแบบเปิดหน้าหรือไม่ ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาอยู่รายล้อมรอบตัวของท่านผู้นำหญิงนั้น จะต้องได้รับไฟเขียวจากนายใหญ่และนายหญิง ยิ่งเป็นผู้ที่ดูแลฝ่ายการเมือง ต้องพร้อมที่จะตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มที่จ้องจะโจมตีโดยทันที

สำหรับโผ ครม.ที่นิ่งแล้วนั้น เป็นอันว่า สุทิน คลังแสง ไม่ได้ไปต่อ ผู้ที่จะมาแทนคือ ภูมิธรรม เวชยชัย ที่จะนั่งรองนายกฯ ควบว่าการกระทรวงกลาโหม และยังจะได้รับมอบหมายจากแพทองธารให้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เรียกได้ว่า งานด้านความมั่นคงทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การบริหารของผู้จัดการรัฐบาล ที่ถือว่าเป็นคนที่นายใหญ่ไว้วางใจ เช่นเดียวกับ “หมอมิ้ง”นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่ยังคงนั่งเก้าอี้เลขาธิการนายกฯ เหมือนเดิม

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยคนเข้ามาใหม่ยังเป็นรายชื่อเดิมไม่ว่าจะเป็น สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิชัย นริพทะพันธุ์ ว่าการกระทรวงพาณิชย์ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.หนึ่งเดียวของพรรคเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และ ชูศักดิ์ ศิรินิล นั่งรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ดูแลด้านกฎหมาย เป็นการเขย่ากันไม่กี่รายจาก ครม.ชุดเศรษฐา ซึ่งผู้ที่ถูกจิ้มออกนั้นล้วนแต่เป็นคนที่นายใหญ่มองแล้วว่าเข้าใจความเป็นไปทางการเมือง และไม่เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคอย่างแน่นอน

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย ยืนยันจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ ขอถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อนั่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย โดยส่งลูกสาวคนกลางไปนั่งแทน นั่นก็คือ “ดีดา” ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งจะอายุครบ 40 ปีในเดือนตุลาคมนี้ โปรไฟล์ด้านการศึกษาไม่ธรรมดา มีดีกรีมหาบัณฑิตจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนบทบาทการทำงาน ถามถึงพรรษาทางการเมือง ไม่ต้องห่วง เพราะเป็นหนึ่งในคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ที่เรียกว่าทำงานใกล้ชิดกับชาดามาโดยตลอด

เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ใครจะกระแนะกระแหนว่า นี่ไม่ใช่สมบัติของตระกูล เมื่อพ่อมีปัญหาคุณสมบัติแล้วส่งลูกแทนได้ ความจริงก็คือ ในระบบพรรคการเมืองที่อิงกับการใช้ฐานเสียงบ้านใหญ่เป็นปัจจัยหลักในการหวังผลเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นบ้านใหญ่หลายจังหวัดยังเป็นนายทุนสำคัญของพรรคด้วย จึงเป็นที่เข้าใจกันภายในพรรค ยิ่งพรรคสีน้ำเงินอยู่กันมาแบบนี้ รู้กันดีว่า ใครมีความสำคัญระดับไหน และใครควรจะทำงานตรงจุดใด จึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งชิงเก้าอี้แต่อย่างใด

ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ภายในภูมิใจไทยยังเหมือนเดิม เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อจากที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มีความน่าสนใจต่อการจุดกระแสกล่าวหาความเป็นคอมมิวนิสต์ของภูมิธรรม โดยลูกไล่เผด็จการตั้งแต่ยุค คมช.จนถึง คสช.อย่าง พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม เพื่อปลุกให้คนในกองทัพต่อต้านเสี่ยอ้วนหากต้องไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สะท้อนภาพของความสุดโต่งของพวกไดโนเสาร์ในกะลาได้เป็นอย่างดี

กรณีนี้น่าจะเป็นเรื่องของคนตกยุค หรือเลือกที่จะพูดความจริงเพียงด้านเดียว เหมือนที่ภูมิธรรมออกมาชี้แจง การเข้าป่าของนักศึกษายุคนั้นก็ทราบกันดีว่าเกิดจากอะไร กระทั่งผู้นำเหล่าทัพในตอนนั้น มีความคิดเห็นว่าวิธีต่อสู้กันในเวลานั้น มันไม่ได้แก้ปัญหา น่าจะเปิดหนทางให้ทุกคนกลับมา เชื่อว่าทุกคนมีใจที่บริสุทธิ์ ทุกคนจึงกลับมา และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตนก็ไม่เกี่ยวข้องในเรื่องอะไรเลย พิสูจน์ตัวเองมาตลอด 50 ปี สิ่งที่ตนทำอยู่ทุกวันนี้ เอาเรื่องของประเทศ ประชาชนเป็นที่ตั้ง ตนเชื่อว่าไม่เคยมีลักษณะไปขัดแย้งกับใคร และเชื่อในเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย

สิ่งที่เสี่ยอ้วนอธิบาย เหมือนที่ ไพศาล พืชมงคล ตั้งข้อสังเกตต่อการจุดกระแสดังกล่าวของสมเจตน์ว่า “เชยแหลก” ทหารทุกเหล่าทัพคงไม่เล่นด้วย แม้ภูมิธรรมเคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน แต่ก็ได้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ตามคำสั่งนโยบาย 66/2523 ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในเวลานั้น พร้อมกับนักต่อสู้ของประชาชนจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยตามคำสั่ง 66/2523 เคยเป็นรัฐมนตรีกันมาเยอะแล้ว ตั้งแต่ ชิงชัย มงคลธรรม, จาตุรนต์ ฉายแสง และ พินิจ จารุสมบัติ เพราะคนเหล่านี้ไม่มีปัญหาหรือมลทินมัวหมองใด ๆ

คำถามที่แหลมคมคือ เทียบกันระหว่างนักศึกษาที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ และถูกผลักไสและกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น กับการร่วมรัฐประหารล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างไหนเลวร้ายและควรถูกต่อต้านมากกว่ากัน นี่แหละ ปัญหาของพวกสุดโต่งที่ก้าวไม่พ้นระบอบอุปโลกน์ที่พวกตัวเองเกลียดชัง กลายเป็นเล่นไม่เลิก แบบนี้ใครกันคือตัวถ่วงบ้านเมืองไม่ให้เดินไปข้างหน้า จ้องแต่จะสร้างความขัดแย้ง แตกแยกอยู่ตลอดเวลา

อรชุน

Back to top button