สงครามชิป ‘จีน-ญี่ปุ่น’
ส่งสัญญาณชัดจากรัฐบาลจีนว่า จะโต้กลับด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหากญี่ปุ่นมีการจำกัดการขายและการบริการ อุปกรณ์ “ผลิตชิป” ให้กับบริษัทสัญชาติจีน
ส่งสัญญาณชัดจากรัฐบาลจีนว่า จะโต้กลับด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหากญี่ปุ่นมีการจำกัดการขายและการบริการ อุปกรณ์ “ผลิตชิป” ให้กับบริษัทสัญชาติจีน นั่นทำให้ความพยายามที่นำโดยสหรัฐฯ ที่ต้องการตัดขาดเทคโนโลยีขั้นสูงจากเศรษฐกิจจีน (อันดับสองของโลก) มีความซับซ้อนมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ตอกย้ำจุดยืนดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งในการประชุมกับคู่ค้าชาวญี่ปุ่น เมื่อไม่นานนี้ถึงความกังวลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของ “โตโยต้า มอเตอร์” ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลปักกิ่งของจีน อาจตอบสนองต่อการควบคุมเซมิคอนดักเตอร์แบบใหม่ ด้วยการที่จำเป็นต่อการตัดการเข้าถึงแร่ธาตุสำคัญผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่น
“โตโยต้า” ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่สำคัญสุดในญี่ปุ่นและมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งกับนโยบายชิปของญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นบางส่วนจากข้อเท็จจริงว่า “โตโยต้า” ได้ลงทุนศูนย์ผลิตชิปแห่งใหม่ ที่กำลังก่อสร้างโดยบริษัทไต้หวัน คือ “เซมิคอนดักเตอร์แมนูแฟกเจอริ่ง” ในเมืองคุมาโมโตะของญี่ปุ่น
ทำให้ความกังวลดังกล่าว กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่น นอกเหนือจากบริษัท Tokyo Electron ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับผลกระทบหลักจากมาตรการควบคุมการส่งออกแบบใหม่ของญี่ปุ่น
โดยสหรัฐฯ กดดันให้ญี่ปุ่นกำหนดข้อจำกัดเพิ่มเติมต่อความสามารถบริษัทต่าง ๆ รวมถึงบริษัท Tokyo Electron ในการขายเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูงให้กับจีน ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนดำเนินการระยะยาว ที่มีเป้าหมายเพื่อจำกัดความก้าวหน้าด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
การเจรจาดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับคู่ค้าชาวญี่ปุ่นในการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีแร่ธาตุที่สำคัญเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่จีนกำหนดข้อจำกัดการส่งออกแร่แกลเลียม เจอร์เมเนียม และกราไฟต์ ช่วงปีที่ผ่านมา
ปี 2553 จีนระงับการส่งออกแร่หายากไปยังญี่ปุ่น เป็นการชั่วคราวหลังเกิดการปะทะกันในน่านน้ำของทะเลจีนด้านตะวันออก ที่ 2 ฝ่ายอ้างกรรมสิทธิ์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นสั่นสะเทือน และอาจทำให้อุปทานของแม่เหล็กกำลังสูงทั่วโลกที่ผลิตในญี่ปุ่นโดยใช้แร่หายากจากจีนนั้นเกิดปัญหา
รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่หายากจากจีน
หุ้นบริษัทชิปหลายแห่งของญี่ปุ่น ร่วงลงหลังมีรายงานการปะทะกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยหุ้น Tokyo Electron ปรับลงเกือบ 2% ขณะที่ Lasertec Corp. และ Disco Corp. ปรับลง 2.8% และ 3.3% ตามลำดับ ชาวญี่ปุ่นบางส่วนคัดค้านแนวคิดว่ารัฐบาลโตเกียว ควรปฏิบัติตามกลยุทธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตัน
Akira Minamikawa นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย Omdia ระบุว่า “ญี่ปุ่นไม่ควรเข้มงวดการควบคุมการส่งออกเพียงเพราะสหรัฐฯ ร้องขอให้ทำเช่นนี้ โดยญี่ปุ่นควรดำเนินตามหลักการของตัวเอง ตัดสินใจได้เองว่าอะไรดีที่สุด สำหรับประเทศ และยืนหยัดทำสิ่งนั้นอย่างมั่นคง”
เบื้องหลังความขัดแย้งดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ใช้เครื่องมือที่มีอำนาจอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “กฎผลิตภัณฑ์โดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDPR” กฎดังกล่าวอนุญาตให้รัฐบาลวอชิงตัน ควบคุมการขายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ทุกที่ในโลก โดยกำหนดว่า “ต้องใช้เทคโนโลยีของอเมริกัน” เพียงเท่านั้น..!!