นายกฯ ไทยกับนายกฯ สิงคโปร์
เวลาที่สื่อไทยชอบพูดจาวิจารณ์ผู้นำประเทศตนเองก็มักจะยกย่องผู้นำของสิงคโปร์เสมอ ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มีบทความชื่นชมนาย Lawrence wong นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์
เวลาที่สื่อไทยชอบพูดจาวิจารณ์ผู้นำประเทศตนเองก็มักจะยกย่องผู้นำของสิงคโปร์เสมอ ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มีบทความชื่นชมนาย Lawrence wong นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์ ที่เพิ่ง แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง New Singapore Dream “ความฝันใหม่ของสิงคโปร์” ที่จะเป็น “อนาคตใหม่ของชาวสิงคโปร์” ไปหยก ๆ แล้วนำมาเทียบกับ วิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงออกในงานของเนชั่นล่าสุดว่าไม่อาจเทียบกันได้เลย ถึงขั้นชมว่าต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว วิสัยทัศน์ของนายกฯ สิงคโปร์นั้นมีถึง 16 เรื่อง อาทิเช่น
1.ประเทศมีภัยคุกคาม 3 อย่างที่ต้องรับมือ Geopolitics, Tech disruption และ Climate change
2.Roadmap ของสิงคโปร์ในอนาคต จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ครอบครัว การศึกษา และที่อยู่อาศัย
3.สิงคโปร์จะเน้นเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เทหมดหน้าตักเพื่อการเติบโต
4.สิงคโปร์จะเน้นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) มากกว่า GDP ซึ่งรัฐจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่ยกระดับขึ้นมา
5.เขาเน้นว่า สิงคโปร์คือประเทศสำหรับธุรกิจระดับโลก แต่พยายามสนับสนุนให้ SME ของประเทศสามารถแข่งขันได้โดยลดขั้นตอนและระเบียบให้มากที่สุด
และอื่น ๆ อีก 11 เรื่อง
วิสัยทัศน์อันเยี่ยมยอดทั้ง 16 เรื่องนี้ ล้วนไม่ใช่มาจากการขายฝัน และเชื่อว่าจะทำได้โดยประเทศเล็กที่สุดในโลกอย่างสิงคโปร์ที่มีประชากรเพียงแค่ 2.6 ล้านคน แต่มีจีดีพีต่อหัวสูงสุดในโลก
นโยบายอันสวยหรูนี้เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของรัฐบาลสิงคโปร์ในการสร้างกรอบความคิดและวิธีการผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งทำให้แผนการและมาตรการของรัฐบาลประสบความสำเร็จทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่ ลี กวนยู โก๊ะ จ๊กตง และลี เซียนลุง ล่าสุดคือลอว์เรนซ์ หว่อง โดยมีเครื่องมือบริหารรัฐสำคัญเป็นบริษัทกึ่งเอกชนสองบริษัทที่มีกฎหมายโกลเด้นท์แชร์หนุนหลังอยู่ คือบริษัท เทมาเส็กโฮลดิงส์ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์และ จีไอซี (Government of Singapore Investment Corporation) อันเปรียบเสมือนกองทุนของรัฐที่บริหารโดยมืออาชีพเข้าลงทุนในธุรกิจเพื่อนบ้านในเขตอาเซียนอย่างลึกซึ้ง สำหรับในไทยบริษัททั้งสองก็เข้ามาถือหุ้นในกลุ่มธนาคาร กลุ่มการเงิน โทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์
ความสำเร็จของรัฐบาลสิงคโปร์ในการสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์อันเยี่ยมยอด และสร้างโครงสร้างบริหารทุนแบบใหม่โดยผ่านเทมาเส็กโฮลดิงส์ และจีไอซี ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นชาติที่ได้รับผลประโยชน์จากอาเซียนอย่างมากมาย ไม่อาจเทียบได้เลยกับที่มาของผู้นำประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่มาจากกองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีแนวคิดแบบคาร์ล ชมิตต์ ในเรื่องการสร้างศัตรูเทียมขึ้นมาเพื่อทำลายล้างพวกที่มีความคิดหัวก้าวหน้าในประเทศ อันนำไปสู่ความล้าหลังและอลหม่านของการเมืองไทยไม่รู้จบ
พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่างการเมืองไทยกับสิงคโปร์ทำให้การคัดสรรผู้นำประเทศออกมาแตกต่างกันมากมายจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนของความด้อยคุณภาพของการเมืองไทยที่ไม่อาจเทียบได้กับสิงคโปร์และไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันเป็นอย่างยิ่ง
วิษณุ โชลิตกุล