อิทธิพลของเฟดฯพลวัต 2016

หลังจากขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ที่เรียกว่า เฟด ฟันด์ เรต ไปแล้ว กลางเดือนธันวาคม เรดาร์ของนักลงทุนที่เคยจับจ้องที่กรรมการของเฟดฯ โดยเฉพาะนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯ


วิษณุ โชลิตกุล

 

หลังจากขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ที่เรียกว่า เฟด ฟันด์ เรต ไปแล้ว กลางเดือนธันวาคม เรดาร์ของนักลงทุนที่เคยจับจ้องที่กรรมการของเฟดฯ โดยเฉพาะนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯ

วันนี้ เฟดฯกลับมาอีกครั้งเมื่อผลการประชุมเดือนมกราคม หรือนัดแรกของปี ได้จบสิ้นลงเมื่อคืนนี้  ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็คงรู้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลกในเช้าวันนี้ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนการประชุมบ่ายวานนี้ ค่าดอลลาร์อ่อนยวบทั่วโลก รวมทั้งเมื่อเทียบกับบาทไทย เพราะนักลงทุนพากันคาดหมายว่า การที่เฟดฯไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ค่าดอลลาร์อ่อนยวบลง และเงินทุนจะไหลกลับมายังชาติเอเชียระลอกใหม่จนกว่าจะถึงเดือนมีนาคม เพราะว่าอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์จะต่ำลง

 ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 35.79 บาทต่อดอลลาร์  แข็งค่าประมาณ 1% เป็นภาพสะท้อนที่ดีว่าเหตุใด ต่างชาติจึงกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้งหลังจากขายหนักตอนต้นเดือนนี้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว

หากเฟดฯไม่ขึ้นดอกเบี้ยจริง ถือเป็นข่าวดี เพราะตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะต้องถึงเวลาขาขึ้นระลอกใหม่แล้ว แม้จะมีแรงขายสกัดเอาไว้จากหุ้นบลูชิพบางรายการเพราะความไม่เชื่อมั่นในนักลงทุนบางกลุ่ม  หากไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไรมากเกินโอกาสที่ดัชนี SET จะฝ่าแนวต้านไปยืนเหนือ 1,280 จุด ขึ้นไปท้าทายแนวต้านใหม่ 1,300 จุดได้ในสัปดาห์นี้ ส่วนจะผ่านได้หรือไม่ ต้องดูแรงซื้อขายกันอีกครั้ง

การกลับมาในความสนใจเรื่องของเฟดฯนั้น มีความหมายชั่วคาว ในยามที่ตลาดเริ่มซึมซับข่าวร้ายเรื่องของ ราคาน้ำมันดิบ และเศรษฐกิจจีนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในห้วงเวลาที่ตลาดหุ้นทุกแห่งหันเหความสนใจไปสู่การประกาศงบการเงินงวดสิ้นไตรมาสสุดท้ายและงวดสิ้นปีของบริษัทจดทะเบียนพอดี

ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และเรื่องของเฟดฯ ไม่เพียงแต่ช่วยหยุดยั้งการวิ่งลงของดัชนีตลาดได้พอสมควร แต่ยังถือเป็นวัฏจักรของตลาดทุนที่นักลงทุนคุ้นเคยกันมาโดยตลอด

 ผลการประชุมเฟดฯเดือนมกราคมนี้ ค่อนข้างเงียบเหงาจากสายตาของนักลงทุนค่อนข้างมาก เพราะไม่มีสลักระเบิดเวลาให้ลุ้นกันน่าตื่นเต้นเหมือนครั้งหลังปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความชัดเจนแล้วว่า นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคมแล้ว เฟดฯจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากไม่เกิน 4 ครั้งในปีนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่นักลงทุนต้องการจะรู้นอกเหนือจากการที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดฯคิดอะไร และกังวลเรื่องอะไร โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ของความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนที่อลหม่าน กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

นักอ่านริมฝีปากของเฟดฯ” ซึ่งสังกัดอยู่ในบรรดากองทุนรวม หรือ โบรกเกอร์ หรือวาณิชธนากรสำคัญของนิวยอร์ก ซึ่งทำหน้าที่ตีความออกมาให้สื่อรับรู้ จะเป็นคนที่อ่านให้ได้ว่า ความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ของเฟดฯในการแถลงออกมานั้น มีนัยสำคัญต่ออนาคตอย่างไรบ้าง

ยามนี้ สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้จากเฟดฯคือ นับตั้งแต่เริ่มต้นนโยบาย “กลับคืนสู่ภาวะปกติ” หรือ normalization นั้น เฟดฯมองเห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ  เศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นและยูโรโน จะมีทิศทางเช่นไร

ครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ข้อถกเถียงว่าเฟดฯควรยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยต่ำที่ดำเนินมา 8 ปีได้หรือยัง แต่จากนี้ไป คำถามว่าเฟดฯควรขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่สองเมื่อใด และเหตุผลเบื้องหลังการขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯมีปัจจัยประกอบอะไรบ้าง โจทย์เช่นนี้ ต้องการความชัดเจนมากทีเดียวในห้วงเวลาที่ความปั่นป่วนของตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลกกำลังทำให้ตลาดมีลักษณะ “ไร้พี่เบิ้ม

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ มีส่วนทำให้ ตลาดแคร์รี่เทรด ซึ่งธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดไปหากำไรมายาวนาน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรุนแรง

การแปรเปลี่ยนของอัตราดอกเบี้ยเฟดฯ ทำให้ชาติที่เคยชินกับโอกาสในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ “ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะเริ่มแพงขึ้นจนไม่คุ้มอีกต่อไป จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทนดังเช่นปรากฏการณ์เงินเยนแข็งยามนี้นั่นเอง

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เฟดฯไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการถกเถียงเรื่องจะขึ้นดอกเบี้ยดีหรือไม่ เพราะผลักภาระให้เป็นเรื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นไปแล้ว แต่เฟดฯก็ยังคงมีความสำคัญต่อไป เพราะท่าทีของเฟดฯนั้น จะส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลก และตลาดทุนตลาดเงิน ต้องเงี่ยหูฟังและจับตามองว่า เฟดฯคิดอย่างไรต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าระหว่างที่มีการประชุมประจำเดือนแต่ละครั้ง

หากเฟดฯไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยคราวนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะต้องคิดหนักกว่าเดิมว่า สมควรที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรดี โดยเฉพาะญี่ปุ่นในการประชุมปลายสัปดาห์นี้ และธนาคารกลางยุโรปในเดือนมีนาคม เพื่อพิจารณาว่า มาตรการ QE ที่ยุโรปและญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมามหาศาลต่อปี มากกว่าที่เฟดฯเคยกระทำมา สามารถแก้ปัญหาเงินฝืดได้มากน้อยแค่ไหน และสมควรกระทำต่อไปอีกแค่ไหนถึงจะเพียงพอในการกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาสู่เป้าหมายตามต้องการ

เช้าวันนี้  อิทธิพลของเฟดฯ จะบ่งบอกข้อเท็จจริงหลากหลายให้นักลงทุนทั่วโลกรู้มากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้น

Back to top button