KBANK กำจัด (NPL) จุดอ่อน.!
ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 หนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ 90.8%
ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 หนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ 90.8% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan : NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.40 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.84% จากไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 2.80%
โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 3.71% จากไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.48% ในขณะที่หนี้เสียจากสินเชื่อบัตรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.53% จากไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.17%
ทำให้แบงก์พาณิชย์ต่าง ๆ ต้องก่ายหน้าผากหาวิธีเร่งระบายหนี้เสีย หรือ NPL ออกมา ไม่งั้นจะค้างคาในแบงก์ ซึ่งจะไปกดดันงบการเงิน จากการต้องตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูง
แต่ด้วยข้อจำกัดของแบงก์ จะไม่ถนัดในการติดตามทวงหนี้ ก็ต้องหาพาร์ตเนอร์ที่เป็นมืออาชีพเข้ามาช่วย..!!
ล่าสุดแบงก์สีเขียว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ก็ส่งบริษัทลูก “กสิกร วิชั่น” (KVISION) หัวหอกในกลุ่มธุรกิจการเงิน ไปจับไม้จับมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุน มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามกฎหมายและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะถือหุ้นเท่ากันฝ่ายละ 50%
การจับมือกับ BAM น่าจะเน้นหนี้เสียที่มีหลักประกันเป็นหลัก เช่น หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ซึ่ง BAM ชำนิชำนาญในการบริหารหนี้เสียที่มีหลักประกันอยู่แล้ว…
ในมุมของ KBANK อันดับแรกได้ระบายหนี้เสียออกไป ทำให้เบาตัวขึ้น ไม่ต้องมีตัวกดดันจากการตั้งสำรองฯ มากนัก
ถัดมา หากบริษัทร่วมทุนเติบโตดี…KBANK ก็จะได้ผลบวกไปด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้น
ฟาก BAM ก็จะได้บริหารหนี้เสียมากขึ้น พอร์ตใหญ่ขึ้น กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต..!!
ถือเป็นการลบจุดด้อย…เติมจุดเด่นให้กันและกัน..!?
เอาเถอะ…แม้ต้องรอสัญญาณไฟเขียวจากแบงก์ชาติ แต่ไม่น่าจะติดขัดอะไร..?? ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนอย่างเร็วสุดช่วงสิ้นปีนี้ หรือช้าสุดก็ต้นปี 2568
พอเห็นความเคลื่อนไหวของ KBANK ในครั้งนี้ ชวนให้นึกถึงดีลก่อนหน้านี้ที่ไปจับไม้จับมือกับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ของกลุ่มเจมาร์ท ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด หรือ JK AMC เพื่อรับซื้อหรือโอนหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน
แน่นอนว่า JMT ถนัดในเรื่องติดตามทวงหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอยู่แล้ว เช่น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้สินเชื่อบัตรเครดิต ฯลฯ
กลายเป็น 2 ขาหลักของ KBANK ที่มาช่วยกำจัดจุดอ่อน…อุ๊ย หนี้เสีย..!!
หากมองไปข้างหน้า สถานการณ์ของ KBANK ก็น่าจะดีขึ้น งบการเงินก็น่าจะโตโดดเด่นมากขึ้น เพราะไม่ต้องตั้งสำรองบานตะไทอีกต่อไป
โอเค…ก็จะได้เห็นขาของ KBANK ชัดเจนขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นขาหนี้ที่มีหลักประกัน และขาหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยมีสองพันธมิตรมาช่วยกำจัดหนี้เสีย
ก็น่าจับตาว่าแบงก์อื่น ๆ จะเดินเกมยังไง..??
จะใช้กลยุทธ์ไปจับมือกับบริษัท AMC เพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย..?? หรือขายหนี้ออกไป หรือจะบริหารจัดการเอง..??
แต่คงได้เห็นการขยับของกลุ่มแบงก์มากขึ้นแหง ๆ…
เชื่อหัวไอ้เรืองสิ..!?
…อิ อิ อิ…