ได้ไม่คุ้มเสีย.?
การเปิดเผยถึงนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ภายในเดือน ก.ย.นี้ รัฐบาลจะใช้งบก้อนแรก 1.4 แสนล้านบาท จ่ายเป็นเงินสด 10,000 บาท
การเปิดเผยถึงนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ว่า ภายในเดือน ก.ย.นี้ รัฐบาลจะใช้งบก้อนแรก 1.4 แสนล้านบาท จ่ายเป็นเงินสด 10,000 บาท โดยการโอนเข้าบัญชีโดยตรงให้ผู้มีสิทธิโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการกว่า 14 ล้านคนเป็นกลุ่มแรกก่อน โดยสามารถนำไปซื้อสินค้าใดก็ได้ ไม่ได้มีการจำกัดสินค้า Negative List อีกแล้ว และอีกงวดหนึ่งจำนวน 1.4 แสนล้านบาทสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะแบ่งจ่ายสองครั้งครั้งแรกจ่ายเป็นเงินสดหัวละ 5,000 บาท และอีก 5,000 บาทจะจ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ก็ถือเป็นความชัดเจนที่ทำให้ราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยวิ่งขึ้นทันทีที่นโยบายนี้ถูกประกาศออกมา
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็สวมวิญญาณเสือปืนไวออกมาคาดการณ์ ถึงผลดีของการนำนโยบายนี้ออกมาใช้ว่า การแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทในรูปเงินสดภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกในช่วงเดือนก.ย.นี้ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.5-4% และในภาพรวมจะช่วยกระตุ้น GDP ของทั้งปีให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะเติบโตราว 2.5%
“การให้เงินสดกับกลุ่มเปราะบางก่อนในเดือนก.ย.นี้ กลุ่มนี้เมื่อได้เงินแล้วจะใช้เงินทันที เงินจะไหลไปในกลุ่มประเภทอาหาร การซื้อของใช้ต่าง ๆ ภายในพื้นที่ เชื่อว่าอย่างน้อยเงินจะหมุน 2 รอบ ทำให้ GDP ทั้งปี 67 เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% จากเดิมที่เราคาดไว้ที่ 2.5% ปีนี้ก็มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7-2.8% ได้” นายธนวรรธน์ ระบุ
เพียงแต่ในข้อดีนี้นายธนวรรธน์ไม่ได้พูดถึงประเด็นเงินเฟ้อที่จะตามมาจากการใช้เงินสดเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย เพราะถ้าหากว่าการใช้เงินภาครัฐสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีเติบโตขึ้นแค่ 0.2-0.3% ถือว่าไม่คุ้มกัน
ตามหลักเคนส์เชียนแล้วตัวเลขทางเศรษฐกิจชั้นดีน่าจะทำให้จีดีพี เติบโตมากกว่า 2-3% ถึงจะเรียกว่ามีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากต้องหักกลบด้วยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นตามมาเสมอ
หากว่าผลลัพธ์ของการแจกเงินสดทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อก็ถือว่าไม่คุ้มค่าและอาจจะสูญเปล่าได้ นี่ขนาดหอการค้าไทยซึ่งเป็นกองเชียร์รัฐบาลชั้นยอดยังออกมาประเมินว่าจีดีพี หลังจากการใช้จ่ายเงินจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2-0.3% ถือได้ว่านโยบายนี้อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
สัญญาณร้ายที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นผลข้างเคียงที่รัฐบาลอาจจะเจอปัญหาได้ ในเมื่อมีเงินก็จ้างผีโม่แป้งไม่ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน
วิษณุ โชลิตกุล