รัฐบาลอุ๊งอิ๊งกับ Negative Income Tax

จากนโยบายระยะกลางและระยะยาว ที่ปรากฏเป็นเนื้อหาและถ้อยแถลงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวเรื่องว่า “รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส”


จากนโยบายระยะกลางและระยะยาว ที่ปรากฏเป็นเนื้อหาและถ้อยแถลงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวเรื่องว่า “รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส” ที่มีเนื้อหาระบุว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่า 50% เข้ามาสู่ระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด

สำหรับ Negative Income Tax หรือ ภาษีเงินได้แบบติดลบ เป็นนโยบายให้เงินช่วยเหลือบุคคล ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถูกคิดค้นและนำเสนอเป็นครั้งแรกช่วงปีค.ศ. 1962 โดยศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์

ช่วงทศวรรษ 1960-1970 มีการทดลองโครงการ Negative Income Tax ในหลายรัฐของสหรัฐฯ ผลการทดลอง พบว่า มีประชาชนเริ่มลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลง สื่อถึงผู้คนเริ่มรู้ว่า ทำงานน้อยก็ได้ เพราะมีเงินชดเชยจากรัฐเข้ามาช่วย จึงเป็นประเด็นที่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

แนวคิดของ Negative Income Tax ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ อย่างไม่เท่าเทียมกัน นั่นหมายถึงคนที่ทำงานแต่มีรายได้น้อยควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐ เริ่มจากการกำหนดระดับรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ หากบุคคลใดมีรายได้น้อยกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาด เพื่อให้รายได้ของพวกเขาเหล่านั้นเพิ่มขึ้นถึงระดับขั้นต่ำได้

หลักการของ Negative Income Tax รัฐบาลจะมีการกำหนดระดับรายได้พื้นฐาน “ขั้นต่ำ” ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างเช่น “รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน” หากบุคคลใดมีรายได้น้อยกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ เพื่อให้รายได้ของบุคคลนั้นถึงระดับที่กำหนด นั่นหมายถึงหากบุคคลมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลอาจต้องจ่ายเพิ่ม 5,000 บาท เพื่อให้รายได้รวมเป็น 20,000 บาท และเมื่อรายได้ของบุคคลเพิ่มขึ้น การชดเชยจากรัฐบาลจะลดลงตามสัดส่วน จนกระทั่งรายได้ถึงระดับที่กำหนดและไม่ต้องการการชดเชยอีกต่อไป

สำหรับประเทศที่มีการดำเนินนโยบาย Negative Income Tax ตามชื่อเรียกขานที่แตกต่างกันไป เริ่มจากสหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, เกาหลีใต้ และสวีเดน เรียกว่า Earned Income Tax Credit (EITC), ออสเตรเลีย เรียกว่า Family Tax Benefit (FTB), นิวซีแลนด์ เรียกว่า Independent Earner Tax Credit (IETC), สิงคโปร์ เรียกว่า Workfare Income Supplement (WIS), แคนาดา เรียกว่า Working Income Tax Benefit (WITB) และสหราชณาจักร Working Tax Credit (WTC)

จับตาการแถลงนโยบายรัฐบาล 13 ก.ย.นี้ จะมีการขยายเนื้อความว่าด้วยเรื่องนี้ต่ออย่างไร และฝ่ายค้านซักฟอกมากน้อยแค่ไหน..!?

แต่ด้วยเรื่องการบริหารจัดการซับซ้อน การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำ และจัดการระบบชดเชยต้องการการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอาจเป็นเรื่องซับซ้อน และยากต่อการดำเนินการ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มีระบบภาษีและการบริหารจัด การสวัสดิการที่เข้มแข็งเพียงพอ

นั่นจึงทำให้การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำ ที่เหมาะสมสำหรับ Negative Income Tax จึงเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลหากกำหนดต่ำเกินไปอาจไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาความยากจน ในทางกลับกันหากกำหนดสูงเกินไป อาจกลายเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจและรัฐบาลได้..!!?

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button