หุ้นหาย-Fail settlement 2 เรื่องวุ่นหุ้น WARRIX ที่ยังไร้คำตอบ
ผ่านมา 16 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WARRIX แจ้งข้อมูลผ่าน ตลท. ประเด็นหุ้นที่ตนเองนำไปจำนำ
ผ่านมา 16 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX แจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประเด็นหุ้นที่ตนเองนำไปจำนำ เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ โดยการฝากในฐานะเป็นหลักประกันไว้กับ “คัสโตเดียน” และมีการแจ้งกับมหาชน ว่า “หุ้นหายไป 15 ล้านหุ้น” นั้น
ยังไม่มีการแจ้งความคืบหน้าว่า หุ้นจำนวนดังกล่าว ที่เอาไปจำนำ หายไปได้อย่างไร !? และปัจจุบันได้กลับคืนมาแล้วหรือยัง!?
ความชัดเจน หรือความคืบหน้า ที่จะสรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่อยู่ดี ๆ หุ้นที่ฝากไว้จะหายไปจากระบบของ “คัสโตเดียน” ได้อย่างง่าย ๆ
เบื้องต้น เรื่องนี้สร้างความกังวลให้นักลงทุนจำนวนมาก ทั้งที่มีหุ้นไปฝากกับ “คัสโตเดียน” หรือ แม้กระทั่งนักลงทุนที่ไม่ได้ใช้บริการ “คัสโตเดียน” ก็ตาม
ในขณะที่คนนอกที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับระบบคัสโตเดียน ได้วิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานาจนสนุกปากว่า “ระบบการฝากหุ้นมีปัญหา” และทางการจะต้องรับผิดชอบ ฯลฯ
มันคงไม่ดีแน่ ถ้าหากปล่อยให้ข้อสงสัย กรณีหุ้นหายยังคงอยู่ เพราะอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดีทั้งหลาย ที่อาจจะนำไปผลิตซ้ำ ๆ ว่า “ระบบการฝากหุ้นมีการ error” และเอามาปน กับระบบที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมในตลาดหุ้น
โดยที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาหากนับรวมวันหยุด ก็เกือบร่วมเดือนเข้าไปแล้ว ที่ยังมีคำถามค้างคาใจอยู่
สำหรับประเด็นหุ้นหาย ที่ CEO แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอพักไว้ก่อน เพราะยังไม่มีคำตอบ แต่ยังมีอีกหนึ่งข้อสงสัยที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหุ้นหาย ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง นั่นก็คือ…
ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 มีนักลงทุน ผิดนัดการส่งมอบหุ้นเนื่องจากมี Fail Settlement ทางด้านการขายหุ้น WARRIX จำนวน 19,905,000 หุ้น
โดยประเด็น Buy-in หุ้น WARRIX นี้ สืบเนื่องมาจากวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ตลท. ได้ประกาศการ Buy-in หุ้น WARRIX จำนวน 19.9 ล้านหุ้น
การ Buy-in เป็นกระบวนการปกติของระบบการส่งมอบหลักทรัพย์ ในกรณีที่ผู้ขายไม่สามารถส่งมอบหุ้นได้
ตลาดจะเริ่มกระบวนการ Buy-in จากทุกโบรกเกอร์ (บล.) โดยการประกาศ buy in list ลูกค้าหรือ บล.ไหนที่มีหุ้นที่อยู่ใน list buy in ที่พร้อมส่งมอบในวันทำการนั้น จะสามารถขายให้ สำนักหักบัญชีได้ในราคา 130% ของราคาปิดวันก่อนหน้า หรือราคาเปิดของวัน (โดยใช้ราคาที่สูงกว่า) เพื่อดึงดูดให้คนมาทำ Buy-in ขายหุ้นให้สำนักหักบัญชี เพื่อที่สำนักหักบัญชีจะสามารถนำหุ้นนี้ไปส่งต่อให้กับผู้ซื้ออีกทอดได้ โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระราคา
ในความเป็นจริงแล้ว การผิดนัดส่งมอบ สามารถเกิดขึ้นได้ถือเป็นเรื่องปกติ โดยเป็นความผิดพลาดในการทำงานของโบรกเกอร์ ลูกค้า หรือแม้แต่คัสโตเดียนเอง
ถ้าย้อนกลับไปดูสถิติของทางการ ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีการผิดนัดการส่งมอบและขายเกินมีมากถึง 85 รายการ
ส่วนมากปัญหานี้จะมาจากนักลงทุนสถาบัน ที่ไม่ได้เก็บหุ้นที่โบรกเกอร์เหมือนนักลงทุนรายย่อย
ระบบนี้ไม่ได้ perfect แต่อย่างใด สามารถผิดพลาดกันได้ ตัวอย่างของการผิดพลาดมีให้เห็นในวันที่ 14 ส.ค. อีกรายการคือการ Buy-in หุ้น ADVICE จำนวน 100 หุ้น แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าของหุ้น WARRIX ก็จะเห็นได้ว่าการ Buy-in ของหุ้น ADVICE เพียง 100 หุ้นไม่น่าเป็นการตั้งใจให้เกิดการผิดนัดส่งมอบ
หากการผิดนัดชำระนั้นมีมูลค่าที่น้อย และเกิดจากการผิดพลาดในการทำงานจริง ๆ โดยที่ผู้ขายไม่ได้รับผลประโยชน์จากรายการขายนั้น ก็อาจจะไม่ยุติธรรมที่จะไปตราหน้าว่าเป็น “Naked Short” ซึ่งกรณีของ “Fail Settlement” ในหุ้น WARRIX ก็ไม่ใช่ “Naked Short” เช่นกัน เพราะไม่ใช่หุ้นที่มีเงื่อนไขของการทำ Short Sell หุ้นได้เลย
แต่หากการผิดนัดชำระดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกิดจากความตั้งใจ หรือเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่น ก็สมควรที่ทางการ จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
กลายเป็นว่า หุ้น WARRIX มี 2 เรื่องราวที่ต้องการคำตอบ แม้จะไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดือนเดียวกัน เพียงแค่ข้ามสัปดาห์เท่านั้น
ส่วนใครจะมีหน้าที่ตอบคำถามเหล่านี้ คงต้องดูกันต่อไป
อึ้งย้ง