ถอดรหัส “เฟด” ลดดอกเบี้ยแรง 0.50% ส่งผลต่อ “เศรษฐกิจ-ตลาดทุน” ไทย…อย่างไร?

ถอดรหัส “เฟด” ลดดอกเบี้ยแรง 0.50% ส่งผลต่อ “เศรษฐกิจ-ตลาดทุน” ไทย...อย่างไร?


ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างเซอร์ไพรส์กับแวดวงตลาดทุนไม่น้อย กับมติของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 11 ต่อ 1 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงร้อยละ 0.50 สู่ระดับร้อยละ 4.75-5.00 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ“เฟด” ในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 พร้อมเห็นควรให้ปรับดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุม “เฟด” ที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้

“นายเจอโรม พาวเวล”  ได้นิยามความเคลื่อนไหวของ “เฟด” ครั้งนี้ว่าเป็น “การลงจอดอย่างนุ่มนวล” (Soft Landing) ให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถือเป็นการปรับจุดยืนด้านนโยบายการเงิน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และจะช่วยให้เงินเฟ้อมีความคืบหน้าในการเคลื่อนตัวสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เราเริ่มกระบวนการปรับจุดยืนด้านนโยบายการเงินไปสู่ระดับที่เป็นกลางมากขึ้น พร้อมทิ้งท้ายว่า “เฟด” ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่สภาวะถดถอยแต่อย่างใด

คำถามที่ตามมาคือ การส่งสัญญาณที่จะเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินของ “เฟด” รอบนี้ จะส่งผลต่อนโยบายด้านการเงินของไทย และฟันด์โฟลว์ที่จะไหลกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ท่ามกลางธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม “เฟด” ถือเป็นภาพดังกล่าวสะท้อนวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงชัดเจน และเชื่อว่าจะสร้างแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินน่าจะไหลเข้าตลาดทุนไทยอย่างแน่นอน เพราะการปรับลดดอกเบี้ย ทำให้กราฟของรีเทิร์นตลาดหุ้นกับพันธบัตรกว้างขึ้น สัญญาณ Bond Yield ในประเทศที่ปรับตัวลดลงมารอ ล่าสุด Bond Yield อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.50% เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังคงติดตามว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงแบบ HARD LANDING หรือ SOFT LANDING จากการที่ “เฟด” เร่งปรับลดดอกเบี้ยลงแร็วและแรง อาจตามมาด้วยความเสี่ยงในการเกิดเศรษฐกิจ RECESSION ซึ่งมักจะกดดัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนัก แต่ในทางกลับกันหากดอกเบี้ยปรับลดลงแบบค่อยเป็นค่อย ไป ท่ามกลางเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ สะท้อน FED ทำ SOFT LANDING สำเร็จ จะหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ขยับขึ้นได้ต่อ

ขณะที่มุมมองของ นายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี เห็นว่าท่าทีของ “เฟด” เป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงถึงความพร้อมในการปรับนโยบายการเงินในรูปแบบ Proactive และ ยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นภาพ Soft Landing ได้ ซึ่งจะบวกต่อการลงทุน Global Bonds และสินทรัพย์เสี่ยงโลก โดยเฉพาะแถมอาเซียน รวมถึงประเทศไทยที่ราคายัง Laggard

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเป็น soft-landing ในขณะที่ dot-plot ชี้ว่าดอกเบี้ย “เฟด” จะลงอีก 0.50% ในปี 67, 1.00% ในปี 68 และ 0.50% ในปี 69 โดย “เฟด” ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการว่างงาน (UR) ปี 67-69 ขึ้นอีก โดยคาดว่าปี 67 จะอยู่ที่ 4.4% (จากเดิม 4.0%) และ ในปี 68 จะอยู่ที่ 4.2% (จากเดิม 4.2%) แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในช่วงปี 67-69 จะทรงตัวที่ปีละ 2%  ส่วนนัยต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่า กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 68 ประมาณ 1% เนื่องจาก GDP ของไทยมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งหลังของปี 67 และจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค จึงไม่คิดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

โดยหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง คงหนี้ไม่พ้น กลุ่มไฟแนนท์ SAWAD, MTC, TIDLOR, KTC, AEONTS ส่วนหุ้นธนาคาร แม้จะถูกกระทบจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังได้ผลบวกจากเศรษฐกิจ+เงินปันผล

Back to top button