‘ภากร’ ส่งไม้ต่อ ‘อัสสเดช’ พาหุ้นไทยโตยั่งยืน
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้จัดงาน Meet the Press กับ “ภากร ปีตธวัชชัย”
เส้นทางนักลงทุน
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้จัดงาน Meet the Press กับ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 13 ซึ่งภายในงานนี้อบอวลไปด้วยความอบอุ่น และถือเป็นการส่งไม้ต่อระหว่างกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 13 สู่กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 “อัสสเดช คงสิริ” ซึ่งจะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กันยายน 2567
สิ่งที่ “ภากร ปีตธวัชชัย” ฝากไว้นั้นคือ ให้กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่นำพาตลาดหุ้นไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจ-ตลาดทุนโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 13 มองว่ากรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 จะมีความท้าทาย ทั้งจากเศรษฐกิจโลก ตลาดทุนโลก ซึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำมาทบทวนกฎเกณฑ์ให้เกิดความเหมาะสม
การที่ตลาดทุนไทยเชื่อมโยงกับทั่วโลก ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยสามารถเทียบเคียงกับต่างประเทศได้ เป็นตลาดหุ้นที่มีคนอยากมาลงทุน นักลงทุนมีสัดส่วนที่เหมาะสม ครบถ้วน
“กรรมการและผู้จัดการตลาดหุ้นคนใหม่มีสิ่งที่ท้าทาย คือการนำพาตลาดให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาใหม่ ๆ เป็นผลจากเหตุการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศ หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องมาตระหนักว่า สิ่งที่เคยทำ และเคยดีในอดีต อาจจะไม่ดีในอนาคต ก็จะต้องมาปรับวิธีการทำงาน การปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตรงนี้เชื่อว่าตลาดทุนไทยมีการปรับตัวแล้ว และเชื่อว่าพร้อมที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อ ๆ ไป ได้ดียิ่งขึ้น”
“ภากร ปีตธวัชชัย” นั่งเก้าอี้กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 วาระ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2561-31 พฤษภาคม 2565 (วาระแรก) และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2565-18 กันยายน 2567 (วาระ 2)
ในยุคสมัยของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนนี้ สิ่งที่ทำไปแล้ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมี 3 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย
1.การให้บริการตลาดทุน ทั้งเรื่องการระดมทุนและการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันกับการให้บริการในตลาดโลกได้
2.การให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถขยายธุรกิจได้ด้วยต้นทุนต่ำ และ 3.การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น ความรู้ทางด้านการเงิน การขยายธุรกิจ
“3 เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ และในช่วงหลังจากการที่โลกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลง การมีโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำให้การทำงานของตลาดทุนต้องปรับตัว ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมีการปรับวิธีการทำงาน มีการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแล สิ่งที่เราทำมาในช่วงหลังนี้จะทำให้ตลาดทุนไทยสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องอีกหลาย ๆ ปี”
การครบวาระในขณะนี้ ถือว่าภาพรวมการลงทุน หรือ sentiment ต่าง ๆ ของตลาดหุ้นไทยดีขึ้น ซึ่งมาจากหลายส่วน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศมาจากประเด็นการปรับลดนโยบายดอกเบี้ยลงทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นในหลาย ๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัว
ส่วนปัจจัยในประเทศเองเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น การส่งออกเดือนกรกฎาคม 2567 เติบโตเกิน 15% ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 6% ภายใน 1-2 สัปดาห์
ซึ่ง “ภากร ปีตธวัชชัย” มองว่าดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) ที่มีแนวโน้มขาขึ้นนั้น เป็นเครื่องสะท้อนความสามารถของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยพบว่า 2 ไตรมาสแรกของปี 2567 เติบโตขึ้นเกือบ 10% การเติบโตในอัตรานี้ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับกระแสเงินทุน หรือฟันด์โฟลว์ (Fund Flow) ที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ ก็เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกดังกล่าว โดยเฉพาะการที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ความไม่แน่นอนลดลง การลดดอกเบี้ย จึงมีสภาพคล่องสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัว กำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น เหล่านี้ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง
การที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนทั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ Thai ESG ก็จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นจุดหักเหสำคัญของเงินทุนไหลเข้า
อย่างไรก็ตาม “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 13 ยังได้ฝากนักลงทุนให้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จะทำให้ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศมีผลต่อตลาดทุน-ตลาดหุ้นไทยตลอดเวลา