ศึกสินทรัพย์ Tupperware

วันที่ 17 ก.ย.67 ที่ผ่านมา “ทัปเปอร์แวร์” ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อขอรับความคุ้มครอง ณ เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา


วันที่ 17 ก.ย.67 ที่ผ่านมา “ทัปเปอร์แวร์” ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อขอรับความคุ้มครอง (ตามหมวด 11) ณ เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีแผนขายกิจการขณะที่ยังประกอบกิจการอยู่ ระหว่างเดียวกันเจ้าหนี้เงินกู้มูลค่า 800 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,000 ล้านบาท) ต่างถกเถียงเพื่อชิงสินทรัพย์บริษัท

หนึ่งในสินทรัพย์สำคัญคือเครื่องหมายการค้าแบรนด์ Tupperware อันเป็นที่รู้จักกันดี.!?

แถมมีประเด็นถึงความเหมาะสมว่า “ทัปเปอร์แวร์” สมควรจะปรับโครงสร้างตนเองต่อไปหรือไม่

ทั้งนี้ “ทัปเปอร์แวร์” บริษัทมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการขายโดยตัวแทนอิสระผ่าน “ปาร์ตี้ทัปเปอร์แวร์” จัดขึ้นในแถบชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ ถูกแทนที่ด้วยการซื้อขายออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่า รวมถึงวัฒนธรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

แม้บริษัทจะได้รับผลเชิงบวกจาก Covid-19 ช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากผู้บริโภคถูกบีบบังคับให้ทำอาหารทานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ถนอมอาหารเพิ่มขึ้น

แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นระหว่างนั้น..ไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทฟื้นตัวขึ้นได้

ช่วงปี 2565 บริษัทต้องพึ่งพาการขายตรงผ่านพนักงาน 5,450 คน รวมถึงตัวแทนขาย 465,000 คน เพื่อสร้างรายได้เป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ผู้ซื้อหันไปใช้บริการออนไลน์เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกัน ที่มีราคาถูกกว่า เช่น อเมซอน (Amazon) หรือวอลมาร์ท (Walmart) นอกจากนี้กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ที่ผ่านมาบริษัทพยายามปรับแผนอยู่หลายครั้ง เช่น การยกเลิกข้อจำกัดเพื่ออนุญาตให้มีการซื้อขายหนี้ ช่วงเดือน ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เล่นใหม่เข้ามาลงทุน รวมถึง Stonehill Institutional Partners และ Alden Global Capital ที่เข้าซื้อสินเชื่อไม่ด้อยสิทธิ (senior loans) ของบริษัทเป็นจำนวนมาก ด้วยราคาเพียง 0.03 เหรียญสหรัฐและหลังใช้ความพยายามหาผู้ซื้ออยู่หลายปี

บริษัทได้รับข้อเสนอซื้อเพียง 20% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด 800 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ “ทัปเปอร์แวร์” มีการเจรจาเพื่อขายสินทรัพย์บางส่วนรวมถึงแบรนด์ Tupperware อันโด่งดังให้กับ Stonehill, Alden และเจ้าหนี้อื่น ๆ

แต่กลายเป็นที่วิพากษ์จากกลุ่มเจ้าหนี้บางส่วน ที่ต้องการให้ “ทัปเปอร์แวร์” ไม่ถูกพิพากษาล้มละลาย และชี้แนะให้บริษัทยินยอมถูกยึดสังหาริมทรัพย์แทน โดยอ้างว่าผู้บริหารบริษัทพยายามผลักดันให้ได้รับความคุ้มครอง ภายใต้หมวด 11 เพื่อป้องกันตัวเองจากการดำเนินการทางกฎหมาย

โดยบริษัทออกมาโต้แย้งว่า “การถูกยึดสังหาริมทรัพย์” ดังกล่าว จะเป็นการยกสินทรัพย์ที่ดีที่สุดของบริษัท ให้แก่ เจ้าหนี้บางรายและเป็นการตัดสิทธิเจ้าหนี้รายย่อยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถต่อสู้คดีเรียกร้องค่าเสียหายของตนได้โดยลำพัง

แหละนี่คือ..ศึกชิงสินทรัพย์ Tupperware จากบรรดาเจ้าหนี้ต่าง ๆ แต่สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นกิจการต่อไป.!!!

Back to top button