รัฐวิสาหกิจยุคเปลี่ยนมือขี่พายุ ทะลุฟ้า
แต่ไหนแต่ไรมา รัฐวิสาหกิจจะกระจายการขึ้นสังกัดไปตามกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ชาญชัย สงวนวงศ์
แต่ไหนแต่ไรมา รัฐวิสาหกิจจะกระจายการขึ้นสังกัดไปตามกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาทิ บริษัทท่าอากาศยานไทยก็ขึ้นสังกัดกับกระทรวงคมนาคม บริษัทปตท.ขึ้นสังกัดกระทรวงพลังงาน หรือธนาคารกรุงไทยก็ขึ้นสังกัดกับกระทรวงการคลัง เป็นต้น
แต่มาในยุคปฏิรูปคราวนี้ ก็มีดำริว่า การปล่อยให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงต่างๆ มีความไม่โปร่งใส และไม่สามารถจะป้องกันการแทรกแซงล้วงลูกจากนักการเมืองได้
อันเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการทุจริตและการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ
จึงได้เกิดแนวคิดสำคัญในการตัดแบ่งรัฐวิสาหกิจออกจากอำนาจดูแลของกระทรวงต่างๆ มารวบรวมจัดตั้งเป็น “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง”
ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ปตท. AOT การบินไทย ธนาคารกรุงไทย และ อสมท และรัฐวิสาหกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 7 แห่ง รวมเป็น 12 แห่ง
ประกอบด้วย TOT CAT บขส. ไปรษณีย์ไทย บริษัทอู่กรุงเทพฯ ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ และบริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว
ขอบข่ายงาน กว้างขวางขนาดไหน ลองคิดตรองกันเอาเอง
กรรมการที่จะเข้ามาบริหารงานก็เรียกว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” เพราะเป็นบอร์ดที่ใหญ่โตมหึมามาก เป็นบอร์ดใหญ่สุดที่คุมบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ถึง 12 บอร์ด
“ซุปเปอร์บอร์ด” ที่มีบทบาทโลดเต้นกันอยู่ในเวลานี้ ก็ได้แก่ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, รพี สุจริตกุล เลขาธิการก.ล.ต.
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตเลขาธิการก.ล.ต. อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ปัจจุบันเป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดตั้งซุปเปอร์โฮลดิ้ง ซึ่งคาดว่าจะได้นั่งเป็นประธานซุปเปอร์บอร์ดตัวจริง หลังผ่านกฎหมายในสนช.ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
และบุคคลสำคัญที่มีบทบาทกระตือรือร้นโดดเด่น นั่นคือ บรรยง พงษ์พานิช ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรรมการซุปเปอร์บอร์ด และประธานกรรมการบริษัททุนภัทร และกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน
แผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจดังกล่าว กำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอกฎหมายในสนช. คาดว่าคงจะผ่านสะดวกโยธิน และภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ก็คงจะมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติแล้ว
คำถามก็มีอยู่ว่า ในประการที่ 1 นั้น ซุปเปอร์บอร์ดจะมีความรู้ความสามารถและการเสียสละอุทิศตนเพียงใดในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจซึ่งประกอบกิจการแตกต่างกันถึง 12 แห่ง
เรียกว่าสากกะเบือยันเรือรบเชียวล่ะ ซุปเปอร์บอร์ดคงต้องเป็นพหูสูตรอบรู้กิจการทั้งหลายเป็นอันดีอย่างมาก
ในประการที่ 2 การเปลี่ยนผ่านรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนมาอยู่ในซุปเปอร์โฮลดิ้ง จะเปลี่ยนผ่านกันในลักษณะใดเพราะบริษัทจดทะเบียนก็จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชน
การจะเปลี่ยนแปลงทุนก็ดี หรือเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ ย่อมจะต้องขอมติผู้ถือหุ้น หรือจะใช้อำนาจหักดิบรวบรัดตามมาตรา44 เอาเลย
ในประการที่ 3 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงไทยน่ะ ยังเป็นกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับกระทรวงการคลังนะครับ อยู่ๆ ใครจะมาถ่ายโอนไปให้ใครตามอำเภอใจ คงไม่ได้
ในประการที่ 4 อันนี้สำคัญมาก ไม่ถามคงไม่ได้
นั่นก็คือ ซุปเปอร์บอร์ดน่ะใครตั้ง หนีไม่พ้นอำนาจการเมืองมิใช่หรือ หรือจะมีวิถีทางอื่นที่หนีพ้นอำนาจการเมืองได้ ช่วยบอกที
หากมี “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” แล้ว มี “ซุปเปอร์บอร์ด” แล้ว แต่ยังต้องให้การเมืองแต่งตั้งอยู่อีก ก็เท่ากับรวมศูนย์เอารัฐวิสาหกิจ 12 แห่งไปประเคนให้การเมืองแทรกแซงเอาตามใจชอบอยู่ดีนั่นแหละ
แทรกแซงได้มันมือและง่ายดายยิ่งกว่าแบบเก่า ที่รัฐวิสาหกิจกระจายสังกัดไปตามกระทรวงต่างๆ เสียอีก
มันจะเป็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาใหม่กันแน่