พาราสาวะถี

นับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภาระงานที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมของ แพทองธาร ชินวัตร ถือว่าหนักเอาเรื่อง


นับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภาระงานที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมของ แพทองธาร ชินวัตร ถือว่าหนักเอาเรื่อง มีพายุลูกแล้วลูกเล่าเข้ากระหน่ำซ้ำเติมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน วนเวียนอยู่ไม่กี่จังหวัด โดยเฉพาะเชียงราย เชียงใหม่ เหมือนเป็นการท้าทายความสามารถ และต้องการให้ผู้นำหญิงคนที่สองของประเทศ ได้แสดงศักยภาพในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงมาตรการดูแล ฟื้นฟูหลังน้ำลดด้วย

สถานการณ์เรื่องน้ำ หากคนที่วิจารณ์ไปในมุมความเชื่อก็น่าจะผูกโยงเข้ากับยุคสมัยของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ หญิงคนแรกของประเทศ หนนั้นน้ำท่วมปี 2554 ถือเป็นภาพจำของคนทั้งประเทศ มาหนนี้ความรุนแรงอาจจะไม่หนักหน่วงเท่าครั้งนั้น แต่ความเสียหายในแต่ละพื้นที่ซึ่งเกิดเหตุนั้นถือว่าหนักหนาสาหัสเอาเรื่อง จนมีการตั้งข้อสงสัยกันว่าหรือจะเป็นอาถรรพ์ของการที่ประเทศมีผู้นำหญิง จึงต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในลักษณะเดียวกันเช่นนี้

ความเชื่อห้ามกันไม่ได้ หลักความเป็นจริงต่างหากที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ต้องอย่าลืมว่า หากความเสียหายที่เกิดขึ้นในบ้านเราว่ารุนแรงแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของสารพัดพายุที่โหมกระหน่ำช่วงนี้ถือว่าหนักหน่วงกว่าประเทศไทยหลายเท่านัก ประชาชนที่เดือดร้อนในทุกพื้นที่ไม่ว่าภาคเหนือ อีสานหรือพื้นที่อื่น คงเฝ้ารอว่านอกเหนือจากการช่วยเหลือเยียวยาตามระบบราชการแล้ว ที่นายกฯ หญิงสั่งการให้ประเมินความเสียหายจากสภาพความเป็นจริงแล้วช่วยเหลือให้สมเหตุสมผลนั้น มันจะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน

สำหรับความช่วยเหลือเฉพาะหน้า บรรดาอาสาสมัครภาคเอกชนที่ลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว และปฏิบัติงานกันอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนให้นายกฯ ทราบในวันที่จัดงานประสานพลัง ประสานใจ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้วว่า ไม่ต้องเป็นห่วง ทุกภาคส่วนดูแลกันอย่างเต็มที่  ในส่วนของภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบ ขอให้เป็น 3 กรอบดีกว่าคือ ก่อนเกิดเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์และหลังเกิดเหตุการณ์ เป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องดูแล วันนี้ถือเป็นบทเรียนการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องนำมาใช้เพื่อให้การสูญเสียน้อยลง และคนทำงานทุกส่วนก็จะทำงานน้อยลง

ถือเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องนำไปคิด แก้ไขให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่มาคอยแก้ต่างกันด้วยสารพัดข้ออ้างเหมือนที่ผ่านมา เสียงสะท้อนจากองค์กรเอกชนด้านสาธารณกุศลถือเป็นข้อเท็จจริงจากผู้ปฏิบัติหน้างาน ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ต้องมารายงานด้วยความพินอบพิเทา เพื่อหวังได้รับความดีความชอบเหมือนฝ่ายข้าราชการประจำ เมื่อจะทำงานแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ก็ต้องกล้าที่จะตัดสินใจแบบไม่ต้องเกรงใจกัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา กลายเป็นภารกิจเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล นัดหมายหัวหน้าพรรคร่วมหารือภายในวันสองวันนี้ เพื่อขอความชัดเจนต่อเสียงสนับสนุนเรื่องนี้ บิ๊กอ้วนมองว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อชัดเจนแล้ว หัวหน้าพรรคจะได้เคลียร์กัน เพื่อให้กระบวนการการแก้ไขเกิดขึ้น โดยมองว่าอย่าไปคิดว่าแก้ได้หรือไม่ได้แบบเดิม ๆ

ความเห็นของผู้จัดการรัฐบาล และน่าจะเป็นมติร่วมของพรรคแกนนำที่มองว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกับประชาชนวันนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมจะช่วยแก้วิกฤตตรงนี้ได้ โดยผู้จัดการรัฐบาลอธิบายว่า ไม่ได้หมายความว่าให้ยกเลิกไปเลย แต่ทุกอย่างควรมีบาลานซ์ ต้องดูอย่างสมเหตุสมผล สิ่งไหนที่แก้ได้ก็ควรแก้ ไม่จำเป็นต้องแก้อะไรมาก แก้ในเรื่องการเมืองเพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพ เพราะมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนั้น เจ้าตัวยังบอกด้วยว่า ไม่อยากจะใช้คำแรง “เรื่องนี้มันเป็นวุฒิภาวะทางการเมือง” ถ้าเข้าใจก็จะเห็นกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ส่วนการแก้รายมาตราไม่มีเจตนาที่จะแก้เพื่อพรรคหรือนักการเมือง ถ้าเข้าใจถึงกระบวนการของประเทศทุกวันนี้ที่ไร้เสถียรภาพจนต้องเผชิญกับวิกฤต มันเกิดขึ้นเพราะความไม่มีเสถียรภาพของการเมือง ฉะนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ใครจะมองว่าเป็นนิติสงครามอย่างไร แต่ความตั้งใจของเพื่อไทยที่ต้องการแก้เพียงแค่ “ให้มีกติกาที่ยุติธรรม”

การทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ จะนิติหรือไม่นิติ แต่สงครามย่อมต้องมีผู้เล่น ผู้สู้ มีอาวุธเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ต้องแสดงให้เห็น แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สงคราม มันเป็นกติกาที่จะทำให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ มันเบี่ยงเบน เหมือนที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ว่า ทุกคนเห็นกันอยู่ว่าเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ ต้องไปถามตรงนั้นตรงนี้ วุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ การเสนอแก้ไขของเพื่อไทยไม่ได้ยกเลิก เพียงแค่จะทำกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติ มาตรฐานว่าจะชี้วัดอย่างไร

แน่นอนว่า ฝ่ายที่เห็นต่างย่อมมีข้อหักล้างและการกล่าวหา ความพยายามดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคการเมือง ทั้งที่ความจริงเมื่อมองโดยไม่เอียงเอนไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็เห็นภาพกันอยู่ว่า นับแต่มีการวินิจฉัยกรณี เศรษฐา ทวีสิน ที่เป็นการตีความเรื่องจริยธรรมโดยกว้าง มันเป็นเหมือนใบเบิกทางให้บรรดานักร้องทั้งหลายพากันแห่แหนไปยื่นร้องเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีโดยใช้ข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน จนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาล

วันก่อนพูดถึงการประชุมบอร์ดค่าจ้างว่าด้วยค่าแรง 400 บาทต่อวัน ซึ่งลากยาวออกไป จนทำให้ไม่สามารถเริ่มได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีข้อสงสัยว่าทำไมถึงยืดเยื้อเช่นนี้ รัฐบาลต้องการเตะถ่วงหรือไม่ อุ๊งอิ๊งยืนยัน ไม่ได้ทำเช่นนั้น แต่ขอให้สามฝ่ายคือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐไปคุยกันในรายละเอียดเพิ่มเติม และต้องดูข้อกฎหมายให้ละเอียด ก่อนจะบอกว่าตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในปีนี้ จบได้หรือไม่รอดูการตั้งตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าเสนอ และ ครม.เคาะได้เร็วถือเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าไม่ใช่ก็ตัวใครตัวมัน

อรชุน

Back to top button