ฝรั่งซื้อหุ้นแบงก์มากสุด

ช่วงระหว่างวันที่ 1-25 กันยายน 2567 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า 33,271 ล้านบาท แต่หากนับจากต้นปี 2567 มาจนถึงวานนี้ (25 ก.ย.) ต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 91,476 ล้านบาท


ช่วงระหว่างวันที่ 1-25 กันยายน 2567 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า 33,271 ล้านบาท

แต่หากนับจากต้นปี 2567 มาจนถึงวานนี้ (25 ก.ย.) ต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 91,476 ล้านบาท

ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยแบบจริงจังในช่วงวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาเป็นต้นมา โดยมีการขายเพียง 2 วันเท่านั้น คือวันที่ 17 ก.ย.จำนวน 415 ล้านบาท และวานนี้ (25 ก.ย.) จำนวน 554 ล้านบาท

ปัจจัยการกลับมาของต่างชาติอย่างที่รับรู้กันคือเรื่องของเฟดปรับดอกเบี้ยลง

และยังมีแนวโน้มจะปรับลงอีก

คำถามที่นักลงทุนอยากทราบคือว่า แล้วต่างชาติจะซื้อหุ้นไทยแบบแรลลี่ไหม

คำตอบ คือ เป็นไปได้ที่จะซื้อต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าบางวันอาจจะมีการสลับขายออกมาบ้าง และถือเป็นเรื่องปกติ

นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หลายแห่ง ต่างก็มองตรงกันว่า ฟันด์โฟลว์ จะทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ซื้อหุ้นเป็นรายกลุ่ม และส่วนใหญ่ยังคงอยู่ใน SET50 และกลุ่ม SET100

ล่าสุด บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ได้เดินทางไปพบลูกค้าหรือนักลงทุนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นไทยเชิงบวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับครั้งก่อนหน้านี้

นักลงทุนที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) ในตลาดหุ้นไทย

ข้อมูลตรงนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนไปจากเดิมที่ในเดือนมิ.ย. 2567 “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight)

ประเด็นหลักที่ลูกค้าให้ความสนใจคือ เรื่อง “กองทุนรวมวายุภักษ์” และ “สถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex), ความไม่แน่นอนทางการเมือง และหุ้นที่ควรซื้อ

CGSI บอกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังเน้นลงทุนหุ้นใน “กลุ่มอุปโภคบริโภค” และ “กลุ่มการแพทย์”

ทว่า กลับปรับลดน้ำหนักการลงทุนใน “กลุ่มธนาคาร”

แต่มีการเชื่อว่าการที่เงินลงทุนจากต่างประเทศทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการรีบาวด์และเงินบาทที่แข็งค่า น่าจะทำให้กลุ่มธนาคารกลับมาปรับตัวดีขึ้น จากสภาพคล่องของกลุ่มฯ และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.จนถึงขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท

เป็นการลงทุนในกลุ่มธนาคารราว 2.1 หมื่นล้านบาท

ส่วนกลุ่มการแพทย์และกลุ่มพาณิชย์มีเงินลงทุนเข้ามา 8 พันล้านบาท และ 3 พันล้านบาท ตามลำดับ 

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นในกลุ่มไอซีที, กลุ่มอาหาร, กลุ่มการแพทย์และกลุ่มธนาคาร และขายหุ้นในกลุ่มอสังหาฯ, กลุ่มพลังงานและกลุ่มขนส่ง

ส่วนเงินบาทไทยเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในช่วงต้นปี 2567

ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/2567 จนถึงปัจจุบัน

และส่งผลให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ยกเว้นริงกิตมาเลเซีย

ดังนั้น เงินบาทจึงมีความผันผวนสูงกว่าสกุลเงินของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 16 ต.ค. 2567

เงินบาทไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้หุ้นที่เน้นธุรกิจในประเทศ หรือ Domestic play ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหุ้นที่มีธุรกิจในต่างประเทศ หรือ External exposure เช่น ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, อาหารและเครื่องดื่ม

ดังนั้น จึงเน้นลงทุนในกลุ่มอุปโภคบริโภค, ธนาคาร และหุ้นปลอดภัย (defensive) ที่ยัง underperform

รวมถึงหุ้นที่มีคะแนน ESG สูง เพราะน่าจะเป็นหุ้นที่เข้ามาอยู่ในเรดาร์ของกองทุนรวมวายุภักษ์

CGSI ยังมองว่า ไทยและสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีกในปี 2567-2568

จึงมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2568 อยู่ที่ 1,630 จุด เท่ากับ P/E ที่ 16 เท่าในปี 2568

ส่วนหุ้นเด่นประกอบด้วย AMATA, BBL, BCH, CBG, CPALL, CPN, CRC, KBANK, KLINIQ, PTTEP และ SIRI

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button