ความอิสระของแบงก์ชาติ?

กระแสเสียงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ย และบริหารค่าเงินบาทให้อ่อนลงในเวลานี้ ไม่เพียงแต่จะมีที่มาจากฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ภาคเอกชน 2 องค์กรหลักคือสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยังร่วมประสานเสียงด้วย


กระแสเสียงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ย และบริหารค่าเงินบาทให้อ่อนลงในเวลานี้ ไม่เพียงแต่จะมีที่มาจากฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ภาคเอกชน 2 องค์กรหลัก คือ สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยังร่วมประสานเสียงด้วย

การลดดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการต่ำลง กำลังซื้อในสังคมก็สูงขึ้นด้วย และการลดดอกเบี้ยก็มีส่วนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย

ส่วนการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงก็ทำให้ส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกของไทย 25,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าจากระดับ 36 บาทมา 33 บาท เงินที่หายไป 3 บาท/1 ดอลลาร์ฯ ก็เท่ากับเงินเข้าประเทศจากผู้ส่งออกหายไปประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท เมื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาท

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยืนกรานไม่ทำตามเสียงเรียกร้อง การตัดสินใจเชิงนโยบายของแบงก์ชาติต้องมองระยะยาว ไม่มองระยะสั้นหรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อันจะสร้างต้นทุนให้แก่ประเทศจำนวนมหาศาล เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร ทำให้ลูกหนี้ 60% เป็นหนี้เรื้อรังและผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ยังเสริมหลักการ “มองยาว” ของธปท. ต้องมาพร้อมกับความเป็นอิสระในการทำงาน แม้ต้องสวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยนโยบายการเงินของไทยเน้น 3 ปัจจัยหลัก 1)การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2)กรอบเงินเฟ้อ และ 3)เสถียรภาพของระบบการเงิน

ก็ดูเหมือนจะดีนะ! แต่ค่อนข้างเป็นหลักการนามธรรม ไม่มีรูปธรรมให้เป็นแนวปฏิบัติ

ยิ่งมาบอกว่า “ไม่ไล่ล่า GDP” นี่ก็ระดับปรี๊ดแตกเลยทีเดียวเชียว เพราะจีดีพีเป็นมาตรวัดความมั่งคั่งหรือความถดถอยทางเศรษฐกิจ อันประกอบไปด้วย รายได้ของประชาชน กำลังการบริโภค การลงทุน การส่งออก และการใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

การไล่ล่าจีดีพีมันผิดตรงไหนหรือ และหากไม่ไล่ล่าจีดีพีแล้วจะไปไล่ล่าหานามธรรมชั้นสุดยอดอะไร อีกทั้งการไม่ไล่ล่าจีดีพีมันอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์เล่มไหนกันหรือท่านดุษฎีบัณฑิตเยล?

หลักความอิสระของแบงก์ชาติควรมีขอบเขตแค่ไหน จะให้ยอมรับว่าแบงก์ชาติทำอะไรถูกต้องทุกอย่างหมด ไม่เคยทำอะไรผิดมาในอดีตเลยใช่ไหม

ในความเป็นจริงก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่!

ยังจำได้ไหม 1)การนำเงินทุนสำรองฯ อันน้อยนิดไปต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินบาทจนเกลี้ยงพอร์ต น้ำตานองหน้ากันทั้งประเทศ ตามมาด้วยการปิดสถาบันการเงิน 54 แห่ง ทำเศรษฐกิจชาติพังพินาศขนาดไหน

2)นโยบายแคปปิตอลคอนโทรลสมัยผู้ว่าฯ ธาริษา ที่ประกาศปุ๊บหุ้นตกวันเดียวถึง 100 จุด แต่ประกาศได้วันเดียวก็ต้องออกประกาศยกเลิก เขาถึงให้ฉายาผู้ว่าฯ ธปท.ยุคนั้นว่า “ธาริษา 100 จุด” แสดงถึงการ “มองสั้น” และเลินเล่อในการแก้ปัญหาขนาดไหน

3)ภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ อันเนื่องมาจากการปิดสถาบันการเงินจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวปีละ 60,000 ล้านบาท โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย แบงก์ชาติซึ่งรับผิดชอบเงินต้นไม่สามารถจะหาเงินมาชำระหนี้ได้สักบาท เพราะผลประกอบการขาดทุน มีกฎหมายแบงก์ชาติ “ห้ามจ่ายหนี้”

ถามว่าสถาบันการเงินล้มเป็นความรับผิดชอบใคร แบงก์ชาติกำกับดูแลสถาบันการเงินกันอย่างไรถึงปล่อยให้สถาบันการเงินล้มได้

รัฐบาลในสมัย กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ถึงออกพ.ร.ก.มาแก้ปัญหาให้นำเงินที่ธ.พาณิชย์นำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ 0.46% ของเงินฝากมาชำระหนี้เงินต้น จนยอดหนี้ล่าสุดเหลือเพียง 5.7 แสนล้านบาทแล้ว

และ 4)ตอนช่วงเศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดขีดช่วง 2 ปี (2565-2566) เงินเฟ้ออ่อน ๆ กระทั่งติดลบ เฟดสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยบอนด์ยีลด์กว่า 4.2% แบงก์ชาติยังยอมปรับดอกเบี้ยนโยบายตามถึง 8 ครั้ง จากระดับ 0.5% มาถึง 2.5% เดี๋ยวนี้

แต่ทีดอกเบี้ยเฟดขาลง ทำไมแบงก์ชาติถึงไม่ยอมปรับดอกเบี้ยลงบ้าง

หลักความเป็นอิสระของแบงก์ชาติคงไม่น่าจะใช่หลักยึดถือตนเองเป็นความถูกต้องราวศูนย์กลางจักรวาล และไม่ฟังใครแน่นอน

ยิ่งยึดถือหลักอิสระแบบนามธรรม ไม่มีแนวปฏิบัติรูปธรรม ก็ยิ่งน่ากลัวจะหลงทิศผิดทาง พาบ้านเมืองเข้ารกเข้าพงเข้าไปใหญ่

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button