‘ซาอุดีอาระเบีย’ มาร์เก็ตแชร์น้ำมัน.!

เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่สุดจากแวดวงพลังงานโลก เมื่อ “ซาอุดีอาระเบีย” ยอมทิ้งเป้าหมายผลักดันราคาน้ำมันดิบที่ตั้งไว้ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่สุดจากแวดวงพลังงานโลก เมื่อ “ซาอุดีอาระเบีย” ยอมทิ้งเป้าหมายผลักดันราคาน้ำมันดิบที่ตั้งไว้ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หันมาเตรียมการเพิ่มการผลิตแทน นั่นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า “ซาอุดีอาระเบีย” พ่ายแพ้ต่อภาวะราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงแล้ว

“ซาอุดีอาระเบีย” ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกและสมาชิกอีก 7 รายของกลุ่มผู้ผลิต OPEC+ มีกำหนดยกเลิกการลดกำลังการผลิตที่มีมายาวนานช่วงเดือนต.ค.นี้ แต่หลังจากนั้นมีการเลื่อนกำหนดการออกไป 2 เดือน ทำให้เกิดการคาดเดากันว่ากลุ่มจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้หรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์สู่ระดับต่ำสุด..นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

มีรายงานข่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแล มีความมุ่งมั่นที่จะดันการผลิตกลับคืนมาตามแผนที่วางไว้ 1 ธ.ค. 67 แม้ว่าจะส่งผลให้ราคาลดลงเป็นระยะเวลานานก็ตาม

แต่กระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับซาอุดีอาระเบีย ก่อนหน้านี้ส่งผลทำให้สมาชิกโอเปกพลัสคนอื่น ๆ ต้องลดกำลังการผลิตลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่เดือนพ.ย. 65 ด้วยความพยายามที่จะรักษาราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับสูง

“ราคาน้ำมันดิบเบรนท์” ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานสากลซื้อขายราคาเฉลี่ยที่ระดับ 99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2565 เป็นระดับสูงสุดรอบ 8 ปี จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่สร้างความเสียหายให้กับตลาดพลังงาน

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากนั้นเป็นต้นมา

“อุปทาน” ที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และอุปสงค์ที่อ่อนแอในจีน ได้ลดผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ล่าสุดปัจจุบัน น้ำมันดิบเบรนท์มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนก.ย. 67 แม้ว่าสงครามของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา อาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาควงกว้างขึ้นก็ตาม

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย ต้องการให้ราคาน้ำมันเกือบ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพื่อสร้างสมดุล ขณะที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงพยายามหาทุนสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เป็นหัวใจของโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า “ซาอุดีอาระเบีย” ตัดสินใจว่าจะไม่ยอมยกส่วนแบ่งการตลาดให้ผู้ผลิตรายอื่นอีกต่อไป โดยยังเชื่อว่ามีทางเลือกในการระดมทุนเพียงพอจะฝ่าวิกฤติช่วงราคาตกต่ำได้ เช่น การแตะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหรือการออกพันธบัตรรัฐบาล

ล่าสุดซาอุดีอาระเบีย สามารถผลิตน้ำมันได้ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554 นอกเหนือจากในปีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

“ซาอุดีอาระเบีย” เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตรายเดือนเพิ่มเติมอีก 83,000 บาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 67 และเพิ่มการผลิตโดยรวมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือนธ.ค. 68

แหละนี่คือ..สัญญาณอันน่าสะพรึงต่อหุ้นกลุ่มน้ำมันของไทยอย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ

Back to top button