ก.ล.ต.-ตลท. จัดระเบียบรายงานหุ้นตึ๊งนอกระบบ
ภาพของการเตรียมออกกฎเกณฑ์ ปกป้องผู้ลงทุนรายย่อย จากการถูกเอาเปรียบจากผู้บริหาร บจ. ที่มีการประสานความร่วมมือกันระหว่าง ก.ล.ต. กับ ตลท.
ภาพของการเตรียมออกกฎเกณฑ์ ปกป้องผู้ลงทุนรายย่อย จากการถูกเอาเปรียบจากเจ้าของ หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีการประสานความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงาน ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มีการกล่าวถึงประเด็น การเข้าถึงข้อมูลของผู้ลงทุนรายย่อยในเรื่องของ “การเปิดเผยข้อมูลของ ผู้บริหาร ที่เอาหุ้นของตนเองไปจำนำ (Pledge) นอกระบบ” โดยที่ผู้ลงทุนรายย่อย ของบริษัทนั้น ๆ ไม่ได้รับรู้ หรือทราบถึง ความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวเลย
ถึงแม้การนำหุ้นไป “จำนำนอกระบบ” ที่ไม่ถูกบันทึกเป็นข้อมูลหลักประกันในระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) จะถูกมองเป็นเรื่อง “ส่วนบุคคล” เนื่องจาก “หุ้น” คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถนำไปจำนอง หรือจำนำได้ ถือเป็นเรื่องปกติ เหมือนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ
แต่ในแง่ของการเป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการแบ่งผลประโยชน์ และแชร์ความเสี่ยงต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ “ผู้บริหาร” หรือ “เจ้าของบริษัท” ควรคิดที่จะรักษาผลประโยชน์ ไม่เพียงเฉพาะของตนเอง พวกพ้องหรือครอบครัว
แต่ยังต้องมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนรายย่อย ที่ยอมใส่เงินเข้ามาเสี่ยงกับการลงทุนในกิจการนั้น ๆ ด้วย
โดยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และมีความซื่อสัตย์สุจริตภายใต้ Fiduciary Duty จากมหาชน
เนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้นของ ผู้บริหาร หรือเจ้าของที่เป็นผู้ก่อตั้ง ย่อมต้องมีมากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป และถ้าหากมีการเทขายหุ้นออกมาแบบ “เต็มใจ” หรือ “ถูกบังคับ” จากธุรกรรมใด ๆ ก็ตาม ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ลงทุนรายย่อยอื่น ๆ อย่างแน่นอน
ฉะนั้น การเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงที่ผู้บริหารนำหุ้นของตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไปจำนำ ถือเป็นการเดินเกมเสี่ยง ที่ผู้ลงทุนรายย่อยควรรับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วย
เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ที่มีผลต่อการเข้าลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกัน หรือ วงเงินมาร์จิ้น (ในระบบ) ผ่านเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว แต่เนื่องจากเวลาผ่านไป ปัญหาหลัก จึงไม่ใช่หุ้นที่เอาไปวางมาร์จิ้นในระบบ แต่กลายเป็น การนำหุ้นไปจำนำ “นอกระบบ” แทน
การจะเรียกร้อง หรือขอความร่วมมือ จากผู้บริหาร หรือเจ้าของ ที่นำหุ้นไปจำนำนอกระบบ มาขึ้นทะเบียน หรือแจ้งกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแง่ของ “ภาคความสมัครใจ” อาจจะเป็นเรื่องยาก และคิดว่าจะมีได้เห็นแค่ 10-20% เท่านั้น
แต่วิธีการแก้ปัญหา ถ้าไม่สามารถหยุดธุรกรรมการนำหุ้นไปจำนำ ที่ต่างประเทศได้ ก็ควรแก้กฎเกณฑ์แล้วเอาธุรกรรมพวกนี้มาอยู่ในประเทศให้มากที่สุด
กล่าวคือ หาก ก.ล.ต.-ตลท.ไม่สามารถออกเกณฑ์ “ห้ามไม่ให้เจ้าของเอาหุ้นไปจำนำนอกระบบได้” ก็อาจจะมองในมุมที่ว่า
-ทำอย่างไร ให้ธุรกรรมนี้โปร่งใสที่สุด?
-ทำอย่างไร ให้ธุรกรรมนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด?
-ทำอย่างไร ให้ธุรกรรมนี้ เกิดขึ้นในประเทศ มากกว่าไปเกิดในต่างประเทศ?
3 ข้อนี้ จะสอดคล้องกับความคิดริเริ่มของรัฐบาล ที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค (Financial Hub)
สำหรับปัญหาของธุรกรรมจำนำหุ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำผ่านธุรกรรม Share Financing หรือการกู้ในรูปแบบ Lombard Loan คือการบริหารความเสี่ยงของผู้ปล่อยกู้
เนื่องจาก ผู้ปล่อยกู้มีกระบวนการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่รับเป็นหลักประกันอย่างเข้มงวดก็เพราะว่ากระบวนการ Liquidate หรือการขายหลักประกันทอดตลาด (Force sell) ไม่สามารถทำได้ทันที โดยปกติ จะใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 วันทำการ
ถ้าทางการสามารถแก้ไขกฎเกณฑ์ และ ย่นระยะเวลาให้มีการ Liquidate เร็วขึ้น ทันทีที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับราคาหุ้น จะทำให้มีผู้ปล่อยกู้ในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน มีผู้ปล่อยกู้ในประเทศเพียงไม่กี่รายที่ยอมปล่อย “เงินสด” การเลือกที่จะทำธุรกรรมจำนำหุ้นที่ต่างประเทศก็อาจจะกลายเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่
อีกทั้งยัง ทำให้ธุรกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศ และอยู่ภายใต้การดูแล และเปิดเผยข้อมูล จากตลท. และ ก.ล.ต. แทนที่ธุรกรรมจะเกิดในต่างประเทศ เหมือนในปัจจุบัน
การเกิดเกณฑ์บังคับให้มีการรายงาน “การนำหุ้นไปจำนำนอกระบบ” ในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการขจัด ความไม่เท่าเทียม หรือ การเข้าถึงข้อมูลสำคัญของผู้ลงทุนรายย่อย ที่ทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เร่งที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปีนี้ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เป็นต้นไป
อึ้งย้ง