ค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหม่

การที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจากพรรคภูมิใจไทยออกมาขอโทษผู้ใช้แรงงานเมื่อวันที่ 24 กันยายน


การที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจากพรรคภูมิใจไทยออกมาขอโทษผู้ใช้แรงงานเมื่อวันที่ 24 กันยายน ว่าไม่สามารถอนุมัติใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม ตามที่รับปากเอาไว้ได้ เพราะเหตุผลทางเทคนิค ด้วยคณะกรรมการจากแบงก์ชาติไม่แต่งตั้งกรรมการเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการไตรภาคีแรงงานนานเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว และปลัดกระทรวงแรงงานซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการไตรภาคี และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ก็เกษียณอายุราชการ ต้องรอให้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ  ทำให้ขาดคุณสมบัติของคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผลเอาเสียเลย แม้ขณะนี้จะมีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่แล้วแต่ก็ยังต้องรอการแต่งตั้งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เบื้องลึกของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่อ้างว่าตามกฎหมายแล้วเป็นสิทธิ์ขาดของคณะกรรมการไตรภาคีที่ฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่ง เป็นเหตุผลอ่อนด้อยเพราะนับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทแล้ว ความพยายามที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็มีอุปสรรคเสมอมา เพราะคณะกรรมการไตรภาคีโดยเฉพาะตัวแทนฝ่ายนายจ้างได้พยายามขัดขวางถ่วงรั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาโดยตลอดโดยการทำให้การประชุมล่ม

เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน การที่การประชุมคณะกรรมการไตรภาคีจะล่มคงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะตัวแทนจากฝ่ายนายจ้างจะอ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ มาขัดขวาง ที่น่าสนใจก็คือตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็ขาดประชุมด้วยหลายครั้งจนการประชุมล่มไป

ส่วนที่น่ากังขาก็คือการที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล อย่างเช่นตัวแทนจากแบงก์ชาติที่ไม่ส่งรายชื่อเข้าร่วมการประชุมเลยเป็นเวลาหนึ่งปีเศษ ก็แสดงให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลยและไม่ให้ความสำคัญในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนี้

การอ้างเหตุไม่เรียกประชุมเพื่อจะไม่พิจารณาเรื่องนี้ จึงสะท้อนถึงความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลในการผลักดันนโยบายที่แถลงไว้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง

นโยบายดังกล่าวเคยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่างกลุ่มซีพี โดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้สนับสนุนนโยบายสองสูง คือ เงินเฟ้อสูงและค่าแรงสูง  แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการไตรภาคีแรงงานมักจะไม่เล่นด้วยตลอดเจ็ดแปดปีที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำไม่เคยขึ้นถึง 400 บาท โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อชาติ เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ถึงช้ามาก

อุปสรรคจากคณะกรรมการไตรภาคีแรงงานนี้ ทำให้เป็นห่วงว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้สิ้นปี 2570 ประเทศไทยจะมีค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จะกลายเป็นนโยบายขายฝันที่ไม่อาจบรรลุความจริงได้

คำกล่าวขอโทษของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานจึงไม่มีความหมายอะไรนอกจากการแสดงความย่อหย่อนในการผลักดันนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button