พาราสาวะถี

เริ่มจะแบ่งภาคกันเล่นให้เกิดความชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ประกาศเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน


เริ่มจะแบ่งภาคกันเล่นให้เกิดความชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ประกาศเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนว่าด้วยผลกระทบจากน้ำท่วม และปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง พร้อมกับโยนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นงานของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะปมมาตรการจริยธรรม หรือการคว่ำร่างกฎหมายประชามติของ สส.โดยวุฒิสภา ล้วนแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ในฐานะที่สวมหัวโขนหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คงจะเลี่ยงที่จะตอบประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่จากบทบาทของความเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง ที่มีภาระหนักอึ้งแบกไว้บนบ่า ย่อมสามารถอธิบายชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปล่อยให้ภารกิจด้านนิติบัญญัติเป็นเรื่องของคนที่มีตำแหน่งแห่งหนเกี่ยวข้องโดยตรง โชคดีอย่างหนึ่งว่าคนที่เป็นผู้นำประเทศไม่ได้มีตำแหน่ง สส.ปาร์ตี้ลิสต์เหมือนแคนดิเดตนายกฯ ของบางพรรคการเมือง จึงทำให้ปฏิเสธความข้องเกี่ยวกับงานของสภาได้ง่ายกว่า

ยิ่งเวลานี้ประเด็นการขวางลำกฎหมายประชามติของ สว.ถูกมองว่า เป็นความพยายามของพรรคการเมืองในซีกรัฐบาล ที่ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น ส่งผลถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เสร็จทันใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือปี 2570 เป็นการชี้ว่า การขับเคลื่อนของสมาชิกสภาสูงมีใบสั่ง การไม่ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้แพทองธารลอยตัว และมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของประเทศได้มากยิ่งขึ้น คะแนนนิยมจากผลโพลที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความเป็นลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด

เห็นชัดว่าหลังจากรับตำแหน่ง นายกฯ หญิงคนที่สองของประเทศ ต้องเผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้าคือน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน หนักหนาสาหัสสุดคือที่อำเภอแม่สาย และอำเภอเมือง เชียงราย น้ำลดแล้วยังมีปัญหาดินโคลนตามมา โดยที่อุ๊งอิ๊งไม่รอช้าลงพื้นที่เพื่อไปให้กำลังใจ และสั่งการเร่งรัดแก้ไขปัญหา รวมถึงเพิ่มมาตรการเยียวยาเพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยรู้สึกอุ่นใจ และเห็นความตั้งใจในการแก้ไขและช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเต็มที่

แค่นี้ก็ได้ใจคนที่เดือดร้อนแล้ว อีกด้านก็เป็นการทำให้เห็นภาพของการทำงานแบบถึงลูกถึงคน โดยมีองคาพยพไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน ที่พร้อมจะลุยทำงานแก้ไขปัญหาร่วมไปกับรัฐบาล คู่ขนานกันมาคือการแจกเงินหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ไม่ว่าเงินที่ได้จะมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์บางส่วนหรือไม่ แต่นั่นก็ทำให้เกิดความคึกคักในหมู่ประชาชนที่จำนวนไม่น้อยรู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นหนทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เริ่มมีความหวัง

ถือเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้เริ่มดำเนินการไว้ อาจจะด้วยความเป็นพรรคแกนนำของเพื่อไทย และได้พรรคร่วมรัฐบาลชุดเดิมเพิ่มเติมมาคือประชาธิปัตย์ จึงทำให้การขับเคลื่อนงานต่าง ๆ สามารถต่อยอดได้ทันที ล่าสุดที่ถือว่าเป็นดอกผลจากการทำงานหนัก เดินสายไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่องของอดีตนายกฯ คนก่อนคือ การที่ Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัท Alphabet และ Google เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ หญิง เนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทย

พร้อมประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาทในไทย เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region โดยคาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่งช่วงปี 2568–2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาทภายในปี 2572 นี่คือความสำเร็จจากที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เศรษฐาได้ผลักดันให้เกิดการลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ระหว่าง Google กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การลงนามในครั้งนั้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยการให้ความสำคัญกับระบบคลาวด์ ถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง และทำให้มีการประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ในหนนี้ โดยที่แพทองธารยืนยันมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของ Google และความพร้อมของไทยทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและแรงงานที่มีทักษะ

จากที่ถูกโจมตีตลอดถึงการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งของเศรษฐาในครั้งนั้น เห็นกันแล้วว่าไม่ได้เป็นการใช้เงินภาษีที่สูญเปล่า ในทางกลับกันยังจะมีอีกหลายเรื่องตามมาที่ถือเป็นการปูทาง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ ขณะเดียวกัน การที่อุ๊งอิ๊งมี 5 คณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่สร้างความหวังแก่ประเทศ และส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น

กรณีนี้ “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายฯ ที่เคยฝากผลงานมาแล้วในอดีตกับ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้ย้ำว่า การที่คณะที่ปรึกษามีความหลากหลายในแง่ของความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงาน ประกอบกับความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงาน โดยทุกคนมองเห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก และคนไทยควรได้รับโอกาสนั้น จึงเป็นความท้าทายว่า รัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธารจะมีนโยบายอะไรที่สร้างความตื่นตะลึง และพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้หรือไม่

จากการใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่ปรึกษาหารือ โดยอุ๊งอิ๊งเข้าร่วมด้วยทุกเช้าวันพฤหัสบดี นัดแรกเริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา น่าสนใจว่า การระดมสมองที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขึ้นอยู่กับนายกฯ พิจารณา ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าไม่เห็นด้วย โดยเรื่องที่แพทองธารคิดมาเพื่อขอความเห็น ที่ปรึกษาก็ชี้แนะแบบตรงไปตรงมา เห็นด้วยก็บอกว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าไม่เห็นด้วย การตั้งวงชี้แนะ แลกเปลี่ยนแบบนี้ ถือเป็นการตกผลึกร่วมกันก่อนจะนำเสนอนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปฏิบัตินำไปใช้ และประชาชนได้ประโยชน์ ไม่แน่ว่าอาจจะมีอะไรให้เซอร์ไพรส์เกิดขึ้นอีกก็เป็นได้

อรชุน

Back to top button