CNG & NGV คือตัวเดียวกัน.!
จากกรณี “โศกนาฏกรรมรถบัสทัศนศึกษา” ของเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ระหว่างเดินทางกลับจากทัศนศึกษา
จากกรณี “โศกนาฏกรรมรถบัสทัศนศึกษา” ของเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ระหว่างเดินทางกลับจากทัศนศึกษา มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่บริเวณหน้าเซียร์รังสิต ถนนวิภาวดีขาเข้า หน้าอนุสรณ์สถานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา
ข้อมูลเบื้องต้นรถบัสคันดังกล่าว มีการติดตั้งถังก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) จำนวนมาก พร้อมมีการดัดแปลงสภาพในการติดตั้งด้วยเช่นกันและบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า เป็นการติดตั้งก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ทำให้เกิดความสับสนว่าระหว่าง CNG และ NGV มันคืออะไร..เหมือนหรือต่างกันอย่างไร..!!?
สำหรับก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas) หรือ CNG โดยบ้านเราเรียกกันว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas For Vehicle) หรือ NGV เป็นก๊าซเชื้อเพลิงที่มี “ก๊าซมีเทน” เป็นส่วนประกอบหลัก สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ได้เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยที่ก๊าซ NGV จะถูกอัดจนมีความดันสูงมากกว่า 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
จุดนี้เองทำให้ในต่างประเทศ เรียกก๊าซชนิดนี้ว่า Compressed Natural Gas (CNG) หรือแปลตรงตัวว่า “ก๊าซธรรมชาติอัด” นั่นเอง
โดยคุณสมบัติของก๊าซ CNG มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และมีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นและปริมาณไอเสีย ที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ
ถือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ในประเทศ จึงมีราคาถูกกว่าน้ำมัน และสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการลดการนำเข้าน้ำมันดิบ
CNG เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ที่มีความปลอดภัย เรียกว่า ปลอดภัยกว่าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล และปลอดภัยกว่า “ก๊าซหุงต้ม” หรือ LPG หลายเท่าตัว ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัว คือ เบากว่าอากาศ แต่ก๊าซ LPG และไอน้ำมันเบนซินหรือดีเซลหนักกว่าอากาศ
ดังนั้นเมื่อเกิดรั่วไหลก๊าซ CNG จะไม่สะสมอยู่บนพื้นดิน จนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่สำคัญอุณหภูมิที่ก๊าซ CNG จะลุกติดไฟในอากาศเองได้ต้องสูงถึง 650 องศาเซลเซียส โดยความเข้มข้นขั้นต่ำสุดที่จะลุกติดไฟได้ของก๊าซ CNG ต้องมีปริมาณสะสมถึง 5% ขณะที่ก๊าซ LPG อยู่ที่ 2%
สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือ LPG หรือที่รู้จักกันว่า “ก๊าซหุงต้ม” มีส่วนประกอบ คือโปรเปน โปรปิลีน นอร์มัลบิวเทน ไอโซบิวเทน หรือบิวทีลีน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างผสมกันเป็นส่วนใหญ่
คุณสมบัติของ LPG เป็นเชื้อเพลิงสะอาด ให้การเผาไหม้ที่สะอาด ให้พลังงานความร้อนสูง ในสถานะที่เป็นไอ ก๊าซจะมีความหนาแน่นที่หนักกว่าอากาศประมาณ 2 เท่าของอากาศ ให้ความร้อนสูง 1,900-2,000 องศาเซลเซียส
สำหรับก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) หรือ LNG คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพ จากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลวโดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ-160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกต่อการขนส่งที่มีระยะทางไกล ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้ง ก่อนจะนำไปใช้งานต่อไป
คุณลักษณะของ LNG จัดเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อ LNG รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม LNG จะระเหยกลายเป็นไอแพร่กระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน การรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยของ LNG ในบรรยากาศอยู่ช่วงระหว่าง 5-15% รวมทั้งต้องมีแหล่งกำเนิดไฟในบริเวณใกล้เคียงด้วย
โดยประโยชน์ของก๊าซ LNG สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ (NGV) ได้เช่นกัน
สรุปแล้ว CNG กับ NGV คือตัวเดียวกัน..เพียงแต่เรียกขานต่างกันเท่านั้นเอง…
สุภชัย ปกป้อง