ข่าวดีจากรัฐบาลไทย
นาน ๆ ครั้งเราจะ ได้เห็นรัฐมนตรีจากรัฐบาลออกมาพูดถึงจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำให้เค้าโครงของนโยบายรัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น
นาน ๆ ครั้งเราจะ ได้เห็นรัฐมนตรีจากรัฐบาลออกมาพูดถึงจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำให้เค้าโครงของนโยบายรัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวในงานของบริษัท Fitch Rating ว่า รัฐบาลมีความพยายามจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าโตได้มากกว่า 3% โดยคลังเตรียมออกมาตรการภาษีกระตุ้นการใช้จ่ายปลายปี เชื่อว่า GDP ปี 68 จะโตกว่า 3% จากการที่ในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว โดยยืนยันว่าไม่ใช่รูปแบบโครงการ “คนละครึ่ง” แต่จะเป็นรูปแบบของมาตรการภาษีและการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ส่วนหนึ่งจะมีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใส่เข้าไป รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งใหญ่
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ รมช.คลัง มองว่า มีโอกาสเติบโตได้ใกล้เคียง 2.7% ซึ่งตามประมาณการนี้ ได้ใส่ผลของเม็ดเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางลงไปแล้ว ที่มีผลต่อ GDP ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 0.3% จากคาดการณ์เดิมที่ประมาณ 2.6%
“ปีนี้ ถ้าไม่รวมก้อน 1 หมื่นบาท ก็จะโตได้ราว 2.6% แต่ถ้ารวมผลของเงิน 1 หมื่นบาทเข้าไป ก็จะโตเพิ่มได้อีก 0.3% กว่า ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเฉพาะแค่ปีนี้ มันจะลากยาวไปต้นปีหน้าด้วย เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ที่จะโต 2.7% ในปีนี้ เพราะมีเม็ดเงินลงไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม” นายเผ่าภูมิ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปี 68 รัฐบาลมองเห็นทิศทางที่ดีของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากที่รัฐบาลได้ทำไว้ในช่วงปีนี้ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ ไปค่อนข้างมาก เป็นโมเมนตัมที่ดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินราว 1.4 แสนล้านบาทลงไปสู่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย และจะต่อเนื่องยาวไปถึงไตรมาสแรกของปี 68 หลังจากนั้น รัฐบาลจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งมาตรการระยะยาวในการดึงดูดนักลงทุน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การดูแลสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งที่ทำทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป
นายเผ่าภูมิ กล่าวภายหลัง ด้วยว่า ได้ชี้แจงให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating Agency) ตลอดจนนักลงทุนต่าง ๆ ได้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน และด้านการคลัง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของไทย ที่ Rating Agency จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศไทย โดยดูจาก 3 ด้านหลักสำคัญ คือ 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.หนี้สาธารณะ และ 3.ความสามารถในการระดมทุน
โดยส่วนแรก เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) นั้น เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น และคาดว่าจะเห็นตัวเลขที่น่าพอใจในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ รวมทั้งระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการทำมาตรการต่าง ๆ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องความล่าช้าของงบประมาณที่ออกมา แต่รัฐบาลก็พยายามดำเนินการเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็เริ่มผลิดอกออกผลต่อ GDP ในปีนี้
ส่วนที่สอง เรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ประมาณ 63-64% ต่อ GDP แต่ในการคำนวณหนี้สาธารณะของไทย แตกต่างจากนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งหากใช้นิยามของ IMF จะพบว่าหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 57% ต่อ GDP เท่านั้น ซึ่งบริษัท Rating Agency จะใช้จากเกณฑ์ของ IMF เป็นหลักในการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนที่สาม เรื่องความสามารถในการระดมทุนในตลาดทุน พบว่าตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นตลาดชั้นนำในภูมิภาค รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ ตลาดพันธบัตร ที่ทำได้ดีในเรื่องการระดมทุน
การวิเคราะห์จุดแข็งของเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นระบบเช่นนี้ถือเป็นการให้ภาพที่ชัดเจนของกลไกเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นทางการที่สร้างความคาดหวังที่ดีในเชิงบวกต่อนโยบายรัฐบาลที่ช่วยเติมเต็มให้ตลาดมีความมั่นใจอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่ได้พูดถึงประเด็นปัญหาเรื่องการอุ้มคนรวยแต่อ้างว่าช่วยคนจนก็ตาม
อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นกึ๋นของรัฐบาลว่ายังมีอยู่ไม่น้อย
วิษณุ โชลิตกุล