ล้ม รธน.เลือกตั้งเร็วกว่า?ทายท้าวิชามาร
ป่วยการพูดว่า ร่างรัฐธรรมนูญ “มีชัยใส่หมวก” เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ในเมื่อวิษณุ เครืองาม อ้างว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนเป็นประชาธิปไตย 100% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็บอกว่าคิดแต่เรื่องประชาธิปไตยประเทศจะถอยหลังไปเรื่อยๆ (อ้าว แล้วจะร่างรัฐธรรมนูญกลับสู่ประชาธิปไตยไปทำไม)
ใบตองแห้ง
ป่วยการพูดว่า ร่างรัฐธรรมนูญ “มีชัยใส่หมวก” เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ในเมื่อวิษณุ เครืองาม อ้างว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนเป็นประชาธิปไตย 100% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็บอกว่าคิดแต่เรื่องประชาธิปไตยประเทศจะถอยหลังไปเรื่อยๆ (อ้าว แล้วจะร่างรัฐธรรมนูญกลับสู่ประชาธิปไตยไปทำไม)
ประเด็นสำคัญที่จะชี้ชะตาการเมืองไทย คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติไหม (ถ้าไปถึงประชามติ)
หากย้อนไปดูรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีจุดอ่อนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นกัน แต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชูจุดขาย “รับรัฐธรรมนูญเลือกตั้งเร็ว” รับไปก่อนแก้ทีหลัง แก้ง่ายนิดเดียว อาศัยคนไทยกำลังเบื่อหน่ายรัฐบาลขิงแก่ อยากเลือกตั้งเต็มทน คิดว่ารับก่อนค่อยมาแก้ (ที่ไหนได้)
รัฐธรรมนูญมีชัยใส่หมวกตรงกันข้าม ไม่มีรับไปก่อนแก้ทีหลัง มีแต่รับแล้วต้องใช้ชั่วกัปกัลป์ เพราะมาตรา 253 ให้ใช้เสียง ส.ส.ทุกพรรครวมกัน อย่างน้อย 10% ของพรรคที่มี ส.ส. 10 คนขึ้นไป แม้กระทั่งพรรคต่ำสิบ ถ้ามี ส.ส.รวมกันเกินสิบ ก็ต้องได้ 10% มันเป็นไปได้ที่ไหน กระทั่งสองพรรคใหญ่จับมือกันยังแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
เอ้า ต่อให้ ส.ส.ทั้งสภาจับมือกัน ก็ยังต้องใช้ 1 ใน 3 ของวุฒิสภาสาขาอาชีพ สมมติแก้ให้วุฒิสภากลับไปเลือกตั้ง ใครมันจะทุบหม้อข้าวตัวเอง หรือต่อให้ ส.ส. ส.ว.ทั้งหมดจับมือแก้อำนาจศาล ที่มาองค์กรอิสระ ฯลฯ การแก้ไขขั้นสุดท้ายต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลบอกทำไม่ได้ ก็มีความผิดฐานล้มล้างระบอบการปกครองกันทั้งสภา
รัฐธรรมนูญมีชัยใส่หมวก รับแล้วยังเลือกตั้งช้า ใช้เวลาอย่างน้อย 15 เดือนกว่าจะเลือกตั้ง โดยระหว่างนั้นคนไทยไม่ต้องเหงาหู ลุงตู่ยังออกทีวีทุกคืนวันศุกร์ เพราะมาตรา 257 ให้ คสช.ยังมีอำนาจ ม.44 ครบมือจนตั้งรัฐบาลใหม่ คสช.ยังออกคำสั่งย้ายข้าราชการ ยังเรียกคนไปปรับทัศนคติได้ แม้รัฐธรรมนูญใหม่เขียนสิทธิเสรีภาพไว้ ก็ไม่มีผลอะไร เพราะรัฐธรรมนูญถาวรอยู่ใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
มาตรา 259 ลากยาวให้ กรธ.เขียนกฎหมายลูก 10 ฉบับ 8 เดือน สนช.พิจารณาอีก 2 เดือน แล้วจึงเลือกตั้งใน 5 เดือน จากโรดแมพ 6-4 กลายเป็น 8-2-5 รวม 15 เดือน โดยหมกเงื่อนไขอีกว่า ถ้า กรธ.เขียนไม่เสร็จให้ยุบ แล้วให้หัวหน้า คสช.ตั้ง กรธ.ชุดใหม่ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าใช้เวลาอีกกี่เดือน
รัฐประหารครั้งไหนๆ ก็ไม่เคยลากยาวเท่านี้ ปี 2550 ประกาศรัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งใน 4 เดือน คมช.ยังอยู่แต่ไม่มีอำนาจ กระทั่ง “บิ๊กบัง” หนีไปเป็นรองนายกฯ
เมื่อเทียบกันจึงเห็นชัด รัฐธรรมนูญมีชัยทิ้งจุดขาย (หรือภาพลวงตา) ที่รัฐธรรมนูญ 2550 เคยใช้ รับรัฐธรรมนูญก็เลือกตั้งช้า ไม่มีคำว่ารับไปก่อนแก้ทีหลัง ใครที่เห็นด้วย 70-30 ก็ยังคิดหนักว่าถ้ารับแล้ว 30 นั้นแก้ไม่ได้เลย
มีชัยขู่ว่าถ้าประชามติคว่ำร่างใหม่โหดกว่านี้ยังมีอีก ทำราวกับว่าถ้าประชามติคว่ำ เสถียรภาพการเมืองจะยังเหมือนเดิม
ระวังนะครับ ชาวบ้านจะคิดได้ว่า “ไม่รับ” เสียดีกว่า เพราะยังไงๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็ลั่นวาจาสัตย์ มีเลือกตั้งในปี 2560 ถ้าประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คสช.ก็ต้องรับฟัง ต้องร่างใหม่ให้ยืดหยุ่น และรีบถอยทัพกลับสู่เลือกตั้ง ดีกว่าอยู่นานจนเป็นอย่างที่อุทัย พิมพ์ใจชน เตือน