OKJ โออาร์รักษาสัดส่วน.!

วันแรก (4 ต.ค. 2567) ที่ บมจ.ปลูกผักเพราะรักแม่ หรือ OKJ ย่างเท้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนั้นเกิดการโยนบิ๊กล็อตจำนวน 31.80 ล้านหุ้น


วันแรก (4 ต.ค. 2567) ที่บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ ย่างเท้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนั้นเกิดการโยนบิ๊กล็อตจำนวน 31.80 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.2% ที่ราคาไอพีโอ 6.70 บาท คิดเป็นมูลค่า 213.06 ล้านบาท…

ชัดเจนว่าเป็นการขายของผู้ก่อตั้ง 3 รายให้กับบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำโดย “ชลากร เอกชัยพัฒนกุล” ขายจำนวน 18.44 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 6.70 บาท คิดเป็นมูลค่า 123.57 ล้านบาท ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 134.35 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.06% จากเดิมถือ 152.80 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.09%

ตามด้วย “จิรายุทธ ภูวพูนผล” ขายจำนวน 7.40 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 6.70 บาท คิดเป็นมูลค่า 49.62 ล้านบาท ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 93.39 ล้านหุ้น คิดเป็น 15.34% จากเดิมถือ 100.80 ล้านหุ้น คิดเป็น 16.55%

ส่วน “วรเดช สุชัยบุญศิริ” ขายจำนวน 5.95 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 6.70 บาท คิดเป็นมูลค่า 39.86 ล้านบาท ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 30.45 ล้านหุ้น คิดเป็น 5% จากเดิมถือ 36.40 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.98%

แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะระบุไว้ในไฟลิ่งตั้งแต่แรกแล้วว่า วันแรกที่ OKJ เข้าเทรด ผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ราย จะขายบิ๊กล็อตให้กับบริษัท มอดลูส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus)…มีการนัดแนะกันไว้แล้ว

ก็สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย..!!

ในมุมของ OR ได้รักษาสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไว้ที่ 20% เหมือนเดิม เพราะหลังจาก OKJ มีการเพิ่มทุนแล้วเข้าตลาดฯ ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 14.78%

ขณะเดียวกัน อาจเกี่ยวข้องกับอำนาจของบอร์ดด้วยหรือเปล่า..?? เพราะหากถือหุ้นแค่ 14.78% ส่งคนเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดได้แค่คนเดียว แต่พอถือหุ้น 20% สามารถส่งคนไปนั่งบอร์ดได้ถึง 2 คน ก็สามารถกำหนดทิศทางของ OKJ ได้

ชัดเจนว่าไม่ใช่แค่การลงทุน ถือหุ้นเพื่อรับเงินปันผลอย่างเดียว แต่ OR ต้องการกำหนดทิศทางการบริหารของ OKJ ด้วยนะเนี่ย…

ส่วนในมุมผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ราย ได้ใช้โอกาสนี้คืนทุนบ้าง…อย่าง  “ชลากร” ฟันกำไรไปเหนาะ ๆ 114.35 ล้านบาท ส่วน “จิรายุทธ” ฟันกำไรไป 45.92 ล้านบาท ในขณะที่ “วรเดช” ได้กำไรไป 36.89 ล้านบาท เนื่องจากผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ราย มีต้นทุนหุ้น OKJ เพียง 0.50 บาท (คำนวณจากราคาพาร์) ทำให้มีกำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นครั้งนี้สูงถึง 6.20 บาทต่อหุ้น

โอ้ววว…แม่เจ้ารวยเละไปตาม ๆ กัน…น่าอิจฉาเนอะ..!!

แต่เห็นปรากฏการณ์ของ OKJ ที่ราคาหุ้นพุ่งแรงในวันแรก ๆ แล้ว ชวนให้นึกถึงหุ้น OR ครั้งเข้าตลาดฯ เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้นถ้าจำกันได้ ช่วงแรก ๆ ก็พุ่งแรงแซงทางโค้งอย่างนี้แหละ…ราคาหุ้น OR มาพร้อมกับความคาดหวังว่าผลประกอบการจะออกมาสวยหรู บวกกับมี “เซียนฮง”-สถาพร งามเรืองพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่มาถือหุ้น ก็เกิดการเฮโลตามกันไป หุ้นถูกลากขึ้นไป เคยทำสถิติแตะระดับสูงสุดที่ 33 บาท จากราคาไอพีโอที่ 18 บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นแฮปปี้เอนดิ้งกันถ้วนหน้า…

แต่พอผลประกอบการไม่มาตามนัด ราคาหุ้น OR ก็เริ่มย่อตัวลง ย่อแล้ว…ย่ออีก หลุดทุกแนวรับ ส่วน “เซียนฮง” ไม่ต้องถามถึง เผ่นเข้าป่ากล้วยไปนานแล้ว จนวันนี้กลายเป็นหุ้นต่ำจองไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว…

ส่วนคนที่รัก OR ไม่ยอมขายหุ้น หวังจะถือยาว ก็เจ็บกระดองใจไปตาม ๆ กัน เพราะติดอยู่บนดอยสูง…เรื่องก็เป็นเช่นนี้แล

ไม่นะ…OKJ คงไม่ซ้ำรอยแม่นม (OR) หรอกมั้ง..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button