พาราสาวะถี
คดีตากใบที่จะหมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคมนี้ มีจำเลยทั้งหมด 7 คน ถูกออกหมายจับ 6 คน ขณะที่ พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลไม่สามารถออกหมายจับกุมได้
คดีตากใบที่จะหมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคมนี้ มีจำเลยทั้งหมด 7 คน ถูกออกหมายจับ 6 คน ขณะที่ พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลไม่สามารถออกหมายจับกุมได้ เเต่ศาลจะมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้งมีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้แจ้งว่าศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้พลเอก พิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ตุลาคม 2567
กระแสสังคมกดดันไปที่พลเอก พิศาล เป็นพิเศษ เพราะเป็น สส.ของพรรคแกนนำรัฐบาล ย่อมถูกเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบมากกว่าใคร ขณะที่จำเลยที่เหลืออีก 6 คน คงไม่สามารถติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ตามคาดหมาย อย่างไรก็ตาม เคยบอกไว้ว่ากรณีนี้เป็นปัญหาส่วนตัว ดังนั้น เพื่อไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการขู่จะใช้มติที่ประชุม สส.และกรรมการบริหารพรรคขับคนที่มีสถานะเป็นจำเลยพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค
งานนี้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น พลเอก พิศาล ได้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้ต้องพ้นความเป็น สส.บัญชีรายชื่อไปด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ภาระหน้าที่จากนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ใครพาดพิงรัฐบาลหรือพรรคแกนนำคงไม่ได้ การพ้นสภาพความเป็นผู้แทนหมายความว่าสิทธิในการคุ้มครองก็หมดลงตามไปด้วย พรรคแกนนำก็ยังคงจำนวน สส.ไว้เท่าเดิม โดย ขจิตร ชัยนิคม ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 37 จะขยับขึ้นมาแทน
ถือเป็นการรับกรรมที่ได้กระทำไว้ในอดีต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การแลกกันระหว่างตำแหน่ง สส.กับการที่ไม่ต้องติดคุกตอนแก่ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว ขณะที่เพื่อไทยเมื่อคนที่เป็นปัญหาได้โบกมือลาไปแล้ว ต้องหันหน้าไปสู้ในเรื่องอื่น ฝ่ายบริหารก็เป็นหน้าที่ของ แพทองธาร ชินวัตร ที่จะนำทัพรัฐนาวาสร้างผลงาน และประสานความร่วมมือเรียกความเชื่อมั่นให้บ้านเมืองต่อไป ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติยังมีโจทย์ใหญ่หลายเรื่องให้สะสาง
สองปมหลักหนีไม่พ้นร่างกฎหมายประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่ออย่างแรกถูกเบรกโดย สว.ที่ก็รู้ว่าเป็นพวกของใคร ย่อมส่งผลกระทบไปถึงการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ ด้วยวิธีการที่ใช้ ประกอบกับข้อจำกัดต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โอกาสที่จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสภาและรัฐบาลชุดนี้เป็นไปได้ยาก ซึ่งแกนนำของพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกตัวแล้วว่า ถ้าแก้ไม่ทันไม่ถือเป็นความผิดของรัฐบาล เพราะได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว
อาจพูดได้เต็มปากเลยก็ว่าได้ ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญจอดไม่ต้องแจว ไม่ใช่เรื่องฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ยอมให้แตะกลไกที่ขบวนการอยู่ยาวได้วางกับดักเอาไว้ หากแต่เป็นเรื่องที่พิจารณากันแล้วว่า หากปล่อยให้แก้อาจจะกระทบต่อจำนวน สส.ที่จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า ถ้าการันตีได้ว่าพรรคแกนนำและพรรคร่วมปัจจุบันจะได้กลับมากันพร้อมหน้า ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ แต่แนวโน้มมันจะไปเข้าทางฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า เข้าทำนองเตะหมูเข้าปากหมา
แอ็กชันของพรรคแกนนำรัฐบาล เป็นเรื่องที่จะต้องแสดงบทบาทในฐานะที่เคยหาเสียง และชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อน กรณีเสียงโหวตของ สส.ไม่เห็นด้วยกับการตีกลับร่างกฎหมายประชามติของ สว.พลิกมติของสภาผู้แทนราษฎร โดยมี 65 เสียงของ สส.ภูมิใจไทยงดออกเสียงนั้น ถือเป็นการแบ่งบทบาทกันเล่น ประเด็นที่ว่าพรรคสีน้ำเงินจะโชว์เหนือ แสดงพลังที่ข่มเพื่อไทย มองตามหน้าเสื่อย่อมไปในทิศทางแบบนั้น แต่ความจริงวงเจรจาในระดับหัวคุยกันไปไกลกว่าที่ว่าใครเหนือกว่าใคร
นอกเหนือจากที่จะต้องวางแผนเพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าสู่เส้นทางอำนาจฝ่ายบริหารได้แล้ว ยังต้องมาคอยระวังพวกที่ผิดหวังจากความต้องการที่จะกลับมายิ่งใหญ่ หรือได้มีส่วนร่วมในขบวนแห่งอำนาจ ประเด็นที่ถูกร้องเรียนต่างมั่นใจกันว่าไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัส น่าจะเอาตัวรอดได้ แต่ก็ไม่มีใครวางใจได้ว่า เมื่อถึงสถานการณ์ที่จะต้องชี้เป็นชี้ตายแล้ว จะไม่มีการพลิกผันเกิดขึ้น ทว่ายังพอเบาใจได้ว่าการเชือด เศรษฐา ทวีสิน ไปแล้วหนหนึ่ง ไม่น่าจะมีดาบสองซ้ำอีก
ขณะเดียวกัน ความที่พรรคแกนนำรัฐบาลและ ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกกระทำมาจากพวกอนุรักษนิยม หลายครั้งหลายหน ทำให้เรียนรู้ว่าการกลับมามีอำนาจหนนี้ นายใหญ่จะต้องไม่แสดงบทบาท สร้างความหมั่นไส้ ไม่ไว้วางใจให้กับพวกที่ยังไม่ยอมรามือได้ใช้เป็นช่องในการจุดประเด็น เพื่อสร้างกระแสความเกลียดชังให้กลับมาอีก เห็นได้ชัดนับตั้งแต่ลูกสาวคนเล็กก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ อดีตนายกฯ ก็ไม่ได้ทำตัวให้ตกเป็นเป้า แม้จะถูกชี้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็ตาม
ภาวะทางการเมืองอยู่ในสภาพวางใจไม่ได้ แต่ที่หนักหนาสาหัสมากกว่าคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดโพลสำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกันยายน ตัวเลขหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นั่นหมายความว่า ปากท้องของประชาชนยังย่ำแย่ เงินหมื่นบาทที่แจกไปกระตุ้นได้หรือไม่ ต้องรอผลการประเมินทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาพสะท้อนที่ต้องคิดกันหนัก ฝ่ายบริหารซึ่งกำกับดูแลนโยบายการคลังของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่คุมนโยบายการเงิน ต้องตั้งวงแลกเปลี่ยน
วิเคราะห์มองกันให้ขาด สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ มีปัจจัยอะไรที่เป็นตัวฉุดรั้ง จะใช้มาตรการใดมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน หลังจากซึมจนถึงขั้นซม และจะทรุดกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี การกระตุ้นเศรษฐกิจ พายุหมุนผ่านการแจกเงินที่รัฐบาลตั้งเป้าผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าไม่ตอบโจทย์ โดยฝั่งแบงก์ชาติไม่เห็นด้วยมาตลอด จำเป็นต้องหาแนวทางที่เห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่ยักแย่ยักยัน หวังเอาชนะคะคานบนความเดือดร้อนของประชาชนที่โดนเซาะกร่อนบ่อนทำลายโดยภาระหนี้สิน ค่าครองชีพจนหายใจรวยรินกันเป็นแถว
อรชุน