แด่ 48 ปี และ 51 ปี

หากจะนับเวลาของเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับประวัติศาสตร์ของสังคมโดยรวม เราต้องนับเอาเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ 14 ตุลาคม 2516 เข้าไปด้วย


หากจะนับเวลาของเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับประวัติศาสตร์ของสังคมโดยรวม เราต้องนับเอาเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ 14 ตุลาคม 2516 เข้าไปด้วย แม้ว่าทางราชการจะยังไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จุดประกายให้เยาวชนไทยตื่นตัวต่อปัญหาสังคมไทยจนทำให้ประชาธิปไตยไทยเฟื่องฟูสูงสุด ก่อนที่ข้อเท็จจริงเรื่องบ้านนาทราย นาหินกรอง และกรณีถีบลงเขา เผาลงถังแดง จะถูกเปิดโปงถึงการที่มวลชนชั้นรากหญ้าถูกกดหัวไว้โดยอำนาจรัฐ และที่สำคัญปัญหาค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการที่เลวร้ายของกรรมกรในโรงงานสิ่งทอถูกเปิดโปงให้เห็นโฉมหน้าของสังคมไทย จนฝ่ายอนุรักษนิยมต้องจัดตั้งองค์การมวลชนขึ้นต่อต้าน อาทิเช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสนับสนุน จนกระทั่งสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายการแสดงละครโดยหนังสือพิมพ์ดาวสยามแต่งภาพนักแสดงให้เป็นหน้าเจ้าฟ้าชาย (ในสมัยนั้น) และฉวยโอกาสปลุกระดมให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าผู้ชุมนุมต้องการล้มล้างสถาบันสร้างความวุ่นวายจนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของถนอมและประภาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมเหมือนกันแต่มีความหมายไม่เหมือนกัน เหตุการณ์แรก นักเรียนนักศึกษาประชาชนต่อสู้กับทหาร  แต่เหตุการณ์ที่สองนักเรียนนักศึกษาประชาชนถูกล้อมปราบ โดยตำรวจและทหารกับมวลชนที่ถูกปลูกฝังความคิดขวาจัดด้วยข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองยาวนานกว่า 4 ปี

ระหว่างนั้นคนหนุ่มสาวจากเขตเมืองที่ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐแบบ “ขวาพิฆาตซ้าย” ได้เข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยหวังล้มล้างอำนาจรัฐเก่าและสถาปนารัฐสังคมนิยมที่ประชาชนเป็นใหญ่ จนกระทั่งพวกเขาได้พบว่าพรรคคอมมิวนิสต์เปลี่ยนจุดยืนไม่ได้คิดจะชนะศึกเพราะเชื่อในทฤษฎีสามโลกของจีน  ประจวบกับรัฐบาลมีนโยบาย 66|2523 คนหนุ่มสาวเหล่านี้จึงอำลาจากป่า

กลับเข้าเมือง

หลังจากนั้นสังคมไทยก็ถูกพลังของทุนการเงินเข้าครอบคลุมผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

ผลพวงของภาวะฟองสบู่แตกทำให้พรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร นำเสนอนโยบายประชานิยมที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็วเกินคาดก่อนที่เขาจะลุแก่อำนาจจนถูกกองทัพยึดอำนาจคืนไป

วันนี้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

เดือนตุลาคมยังคงเป็นเดือนที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีอาถรรพ์หรือไม่

เวลาที่เวียนผ่านไปอาจจะทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยคิดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เคยเสื่อมคลาย  ในขณะที่อดีตวีรชนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องล้มหายตายจากกันไปตามอายุขัย

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button