ญี่ปุ่น กับ ปีเตอร์ แพนพลวัต 2016
หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพสัมพันธมิตรนำโดยนายพล ดักลาส แมคอาร์เธอร์ เข้ายึดครองญี่ปุ่น เขียนรัฐธรรมนูญใหม่นานหลายปี ก่อนจะถอนตัวไป พร้อมกับคำพูดวิจารณ์ที่ทำเอาคนญี่ปุ่นโกรธเป็นฟืนไฟคือ “คนญี่ปุ่น มีอุปนิสัยเหมือนเด็กอายุ 7 ขวบ”
วิษณุ โชลิตกุล
หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพสัมพันธมิตรนำโดยนายพล ดักลาส แมคอาร์เธอร์ เข้ายึดครองญี่ปุ่น เขียนรัฐธรรมนูญใหม่นานหลายปี ก่อนจะถอนตัวไป พร้อมกับคำพูดวิจารณ์ที่ทำเอาคนญี่ปุ่นโกรธเป็นฟืนไฟคือ “คนญี่ปุ่น มีอุปนิสัยเหมือนเด็กอายุ 7 ขวบ”
วันนี้ แมคอาร์เธอร์จากไปนานหลายทศวรรษแล้ว แต่คำพูดดังกล่าวถูกนำมากล่าวอีกครั้ง จากพฤติกรรมทำให้ค่าเงินเยนอ่อนของธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยสื่อตะวันตกและนักวิเคราะห์ กล่าวว่า นายธนาคารกลางญี่ปุ่น ติดโรค “ปีเตอร์ แพน” เข้าขั้นรุนแรง
ปีเตอร์ แพน คือ ตัวละครในนวนิยายเด็กของอังกฤษ กับดินแดน เนเวอร์แลนด์ของเขาที่ทุกคนเป็นเด็กตลอด และมีมนต์พิเศษในการปฏิเสธการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่เป็นเด็กตลอดกาล ใช้ชีวิตผจญภัยอยู่ในเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในเนเวอร์แลนด์
การเปรียบเปรยว่าผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นมีพฤติกรรมเสมือนปีเตอร์ แพน ค่อนข้างใกล้เคียงพอสมควร เพราะการมุ่งปกป้องตลาดส่งออกให้สินค้าญี่ปุ่นแข่งขันได้ในตลาดโลก นับแต่ช่วงฟองสบู่เศรษฐกิจตกต่ำยาวนานกว่า 20 ปี จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่เพราะว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์” ชั้นยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคของผู้ว่าคนปัจจุบัน นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ที่เป็นพลังขับสำคัญในนโยบายการเงินเพื่อเสริมให้เป้าหมายของอาเบะโนมิกส์บรรลุ
จารีตทางวัฒนธรรมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่เคยมีคำว่า “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” มาตั้งแต่ต้น การเข้ารับตำแหน่งของนายคุโรดะเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นที่เข้าใจดีว่า เขามีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสนองตอบอาเบะโนมิกส์
สิ่งที่คุโรดะลงมือกระทำนับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน และอาจจะเป็นอนาคต คือ การใช้มาตรการที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักการเงินทั่วโลกหลายต่อหลายครั้ง จนถูกขนานนามว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น กำลังใช้ปฏิบัติการ “กามิกาเซ่ทางการเงิน” ที่ทำให้ปั่นป่วนทั่วโลก
มาตรการทางการเงินในฐานะ “ลูกศรดอกแรก” ของอาเบะโนมิกส์ เริ่มต้นในปลายปี 2556 คือ มาตรการ QE หรือ ผ่อนคลายการทางเงินเชิงรุกมาใช้ โดยมีจุดหมายพลิกฟื้นเศรษฐกิจและยุติภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมา 2 ทศวรรษ เพื่อบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ภายใน 3 ปี และ ยุติปัญหาดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคตกต่ำมาราธอน
ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ออกพันธบัตร เพื่อซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน หรือ ตราสารหนี้เอกชน รวมถึงพวกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กองทุนรวมประเภท ETF และกองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ (REITs) และ ยังเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลในระดับเดือนละกว่า 7 ล้านล้านเยน (75,000 ล้านดอลลาร์) ภายใต้เป้าหมายส่งเสริมการกู้ยืมในหมู่บริษัทและในบรรดาผู้บริโภค
การใช้นโยบาย QE นั้น ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดโดยรวมถึงเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในทุนสำรอง จะเพิ่มขึ้นไปอีกราว 60,000-70,000 ล้านล้านเยน (600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ แต่ผลข้างเคียงสำคัญยิ่ง คือ ค่าเงินเยนอ่อนตัวยวบเทียบกับเงินสกุลอื่นของโลก
นโยบาย “ลูกศรดอกแรก” ผสมเข้ากับมาตรการ “ลูกศรดอกที่สอง” (มาตรการทางการคลัง) และ “ลูกศรดอกที่สาม” (มุ่งกระจายความมั่งคั่งทั่วประเทศ) แต่ยังไม่ทันที่จะบรรลุผล ก็ปรากฏว่า มีปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นรุนแรงมากถึง 230% ของจีดีพี เข้ามาแทรก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีความเสี่ยงในเรื่องเพดานหนี้
วิธีการแก้ปัญหาเพดานหนี้ คือ การขึ้นภาษีบริโภคหรือ salestax จากเดิม 8% เป็น 10% เมื่อเดือนเมษายน 2557 และจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เป็น 12.5% โดยมีเป้าหมาย จะเก็บในปีหน้าอีก 15% แต่ผลพวงของการขึ้นภาษี คือ กำลังซื้อหดหายจากท้องตลาด จนกระทั่ง จีดีพี ของประเทศเริ่มลดต่ำลง และ เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า ซึ่งท้ายที่สุด ต้องกลับมาใช้มาตรการการเงินโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นขับเคลื่อนใหม่อีก
ปลายปี 2557 ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำให้โลกประหลาดใจอีก เมื่อขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE เพิ่มเติมจากเดิม เพื่อซื้อสินทรัพย์เชิงรุก จากปีละ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นปีละ 724 แสนล้านดอลลาร์ หรือเดือนละ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ดูเหมือนว่าผลลัพธ์รอบหลังนี้ จะไม่มีประสิทธิผลเหมือนเดิมอีกครั้งเพราะเกิดอาการ “ดื้อยา” ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็เผชิญกับข้อจำกัดทางทรัพยากร เพราะไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องมีทองคำสำรองเหมือนเฟดฯของสหรัฐฯ
มาตรการQE ที่เริ่มไม่ได้ผล ยังดำเนินต่อไปในเดือนธันวาคมล่าสุด เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยต่ำกว่าที่คาด ในขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมและการบริโภคภาคครัวเรือนตกต่ำต่อเนื่อง แถมยังมีส่วนผลาญเงินทุนที่เป็นทรัพยากรของธนาคารกลางญี่ปุ่นไปมากถึง 75% ของที่เคยมีอยู่ ทำให้การเพิ่ม QE ไม่สามารถทำได้อีก
ทางเลือกครั้งล่าสุดในการหันมาใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ เพื่อหวังให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณชิย์ที่จำแนกออกเป็น 3 แนวทาง ให้แก่ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยใช้ทรัพยากรของธนาคารกลางลดลง เพื่อกระตุ้นให้เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% บรรลุเป้าในเวลาที่กำหนดไว้ในช่วงปี ค.ศ. 2017 ให้ได้
แม้การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นจะไม่มีผลมากมายนักในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ แต่ดังที่ทราบกันดีว่า มีผลทำให้การเร่งส่งออกของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นดีขึ้นโดยที่ค่าเงินเยนอ่อนยวบลงไปในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราในระยะสั้น แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหารากฐานของสังคมญี่ปุ่นในระยะยาวนั่นคือ สังคมที่มีคนชรามากกว่าคนในวัยทำงานและเด็ก
บทบาทของปีเตอร์ แพน ที่นายธนาคารกลางญี่ปุ่นลงมือกระทำใน 3 ปีที่ผ่านมา และได้ผลในระยะสั้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ชวนให้เกิดความกังขาว่า แล้วเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะต่อไปจะก้าวข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างของประชากร เพื่อกลับมาสู่ความคึกคักเข้มแข็งแบบก่อนหน้า 20 ปีที่ผ่านมา ได้อย่างไร
ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากโตเกียว