ไม่ลดดอกเบี้ย แล้วไง?

16 ต.ค.ที่ผ่านมา กนง.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ภายใต้กำกับการของแบงก์ชาติ พิจารณาวาระสำคัญเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะลดลงหรือคงที่


16 ต.ค.ที่ผ่านมา กนง.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ภายใต้กำกับการของแบงก์ชาติ พิจารณาวาระสำคัญเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะลดลงหรือคงที่

ผมมีความจำเป็นจะต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้า จึงขอทำนายทายทักไว้ก่อนเลยว่า แบงก์ชาติคงไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ และชนชั้นกลางที่ยังมีภาระผ่อนส่งหนี้บ้านหนี้รถกันหรอก

แม้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำมาก 9 เดือนมานี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยแค่ 0.61% เอง ไม่เข้ากรอบล่าง-กรอบบน (ที่ไม่เป็นจริง) ของแบงก์ชาติมานมนานแล้ว

ฝ่ายเชียร์ให้ลดดอกเบี้ย ก็บอกว่า “ลดเหอะ” ทั้งต้นทุนประกอบการและต้นทุนชีวิตที่มีหนี้สินก็จะลดลง ชีวิตก็มีความสุขมากขึ้น เงินบาทก็จะอ่อนตัวลงเพื่อการส่งออก นักท่องเที่ยวก็จะมามากขึ้น และตลาดหุ้นก็จะขึ้นแน่นอน

สรุปชีวิตจะมีความสุขและถือเป็นโอกาสที่นาน ๆ จะมาสักครั้ง!

ส่วนฝ่ายไม่เชียร์ให้ลดดอกเบี้ย ก็นำโดยดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติรวมอดีตผู้ว่าฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด คอลัมนิสต์สายอนุรักษนิยม และพวกที่เกลียดรัฐบาลชินวัตรเข้าไส้

เหตุผลที่ท่านบอกก็คือ ท่านต้อง “มองยาว-ไม่มองสั้น” เน้นการดำเนินนโยบายการเงินหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1)การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2)กรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) และ 3)เสถียรภาพของระบบการเงิน และเหนืออื่นใดเลยก็คือ ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ

ดูมันย้อนแย้งกันอย่างไรชอบกล! ท่านบอกจะเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ให้ไล่ล่า GDP เอ๊ะ! ยังไง ท่านบอกว่า ยึดกรอบเงินเฟ้ออันเป็นมรดกตกทอดจาก IMF สมัยเข้ามายึดครองไทยเมื่อ 26-27 ปีก่อน

แต่ในความเป็นจริง อย่าว่าแต่ยุคท่านเลย ยุคผู้ว่าฯ ธปท.คนก่อน ๆ เงินเฟ้อจริงก็ไม่เคยแตะกรอบล่าง-กรอบบนที่แบงก์ชาติกำหนดสักปี เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า เงินเฟ้อจึงอยู่ในระดับต่ำมาตลอด

แบงก์ชาติมากำหนดเป็นสาระสำคัญในการดำเนินนโยบายหลักไปทำไม

ท่านบอกว่า เน้นเสถียรภาพของระบบการเงิน ก็ไม่รู้ว่าท่านตีความ “เสถียรภาพ” แบบไหน

ท่านกลัวว่า หนี้ครัวเรือนกระจุกคอหอยกว่า 90% ของจีดีพีไปแล้ว หากลดดอกเบี้ยจะทำให้คนก่อหนี้มากยิ่งขึ้น

คำถามง่าย ๆ เลยก็คือ หากลดดอกเบี้ย แบงก์จะปล่อยกู้ให้คนเป็นหนี้เพิ่มล่ะหรือ ทุกวันนี้คำขอกู้ซื้อบ้าน ก็ถูกปฏิเสธไปกว่า 70% แล้ว และหากไม่ไล่ล่าจีดีพี หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะมันจะลดลงไปได้อย่างไร

สรุปท่านทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” มากไปมั้ย แต่ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องค่าเงินบาทแข็ง สร้างอุปสรรคต่อการส่งออก การกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงอย่างมาก ตลอดจนการลดต้นทุนประกอบการและต้นทุนชีวิต

กองเชียร์แบงก์ชาติบางส่วน ก็หาเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจของกนง.ว่า คงจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านดีแล้ว เพราะมีกระบวนการพิจารณาถึง 7 ขั้นตอน ไม่ใช่พิจารณาลวก ๆ แบบมติครม.ของฝ่ายการเมือง

ก็เอาล่ะนะ! ผมขอภาวนาให้การคาดเดาของผมไม่เป็นจริง แต่หากพลิกผันไปจากนี้ ก็ถือเป็นบุญของประเทศละกัน ตลาดหุ้นก็คงจะตอบรับแน่นอน

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button