พาราสาวะถี

ท่ามกลางจังหวะที่ผู้คนกำลังเมามันกับการติดตามข่าวดิไอคอน กรุ๊ป และคาดหมายกันว่าน่าจะยึดพื้นที่สื่อไปอีกหลายเพลา


ท่ามกลางจังหวะที่ผู้คนกำลังเมามันกับการติดตามข่าวดิไอคอน กรุ๊ป และคาดหมายกันว่าน่าจะยึดพื้นที่สื่อไปอีกหลายเพลา จู่ ๆ ก็ปรากฏข่าวคนรายงานข่าวจาก กกต.ระบุว่า แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีคำสั่งรับคำร้องกรณียุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากการที่มีบุคคลนิรนามและขาประจำอีกหลายรายยื่นร้อง ด้วยข้อกล่าวหาว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ ชี้นำ

แน่นอนว่า เมื่อยังไม่มีการยืนยันเป็นทางการ แม้แนวโน้มจะเป็นไปตามนั้น ก็พึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ขณะนี้เป็นกระบวนการตั้งต้น เรื่องยังไม่ถูกส่งถึงมือ 7 เสือ กกต.ในชั้นการพิจารณาเพื่อลงมติ เป็นขั้นตอนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

หากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอต่อ กกต.ให้มีมติยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งพฤติกรรมตามข้อกล่าวหานั้น เป็นผลมาจากข่าวแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมหารือกับทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกฯ ของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

รวมทั้ง กล่าวหาว่าการให้สัมภาษณ์ของทักษิณหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่ทักษิณได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ฝ่ายสอบสวนที่เลขาฯ กกต.ตั้งขึ้น จะต้องไปตรวจสอบ และพิสูจน์ให้ได้ว่า การกระทำทั้งหมดนั้น เป็นการชี้นำ ครอบงำ และพบการสั่งการภายในพรรคเพื่อไทยให้ทำตามหรือไม่

ตรงนี้ต้องมีหลักฐานแสดงให้แน่ชัด การจะใช้ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมมาแล้วกล่าวหาไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ว่าทักษิณครอบงำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมกรณีการเสนอชื่อนายกฯ แทนเศรษฐา ถ้ายึดตามข่าวที่ปรากฏ ยิ่งจะเห็นว่าประเด็นครอบงำกับการไม่มีอำนาจสั่งการนั้น มันชัดเจนอยู่ในตัว เพราะข่าวที่ออกมาหลังจากแกนนำ 6 พรรคร่วมเข้าพบทักษิณก็คือ ให้มีการเสนอชื่อ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตของเพื่อไทยเป็นนายกฯ

แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีการประชุม สส. ตามมาด้วยกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กลับมีมติให้เสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ และบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ร่วมในการแถลงข่าวรองรับมติดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นกระบวนการตามกฎหมาย ยึดตามรัฐธรรมนูญ และธรรมเนียมปฏิบัติในการจัดตั้งรัฐบาลคือ พรรคไหนรวบรวมเสียงข้างมากได้ และพรรคที่มีคะแนนอันดับ 1 ในพรรคที่จับมือกันนั้น มีความชอบธรรมในการที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเองให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเลือก

เมื่อข่าวชิ้นนี้ปรากฏ ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ในมุมของกองแช่งย่อมอยากเห็นภาพการสั่งยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ยกเว้นประชาธิปัตย์ที่มาทีหลัง แต่ท่าทีของแกนนำเพื่อไทยและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดูเหมือนจะไม่ยี่หระต่อสิ่งที่เกิดขึ้น บทสัมภาษณ์เป็นไปด้วยความท้าทาย แสดงให้เห็นถึงความมั่นอกมั่นใจว่า ข้อกล่าวหาที่ถูกเล่นงานนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนัก และไม่น่าจะเอาผิดพรรคพวกตัวเองได้

ส่วนฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียต่อกรณีที่เกิดขึ้น ความเห็นของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาชน น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยชี้ว่าเลขาฯ กกต.จะต้องพูดให้ชัดว่า คำร้องนิรนามหรือคำร้องที่ภาษาชาวบ้านเรียกบัตรสนเท่ห์ เป็นหนึ่งในคำร้องที่คิดว่ามีมูลในการตั้งแท่นสอบตามรายงานข่าวจริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไปกันใหญ่ คือนั่นเริ่มมีอำนาจมืดลึกลับแล้วมันอันตราย แสดงว่าเป็นระบอบที่เอื้อให้เกิดรัฐประหารเงียบได้ตลอดเวลา

ที่ผ่านมา บรรดานักร้องถูกตั้งคำถามจากสังคมเรื่อยมา เรื่องนี้มีใบสั่งหรือไม่ หรือเทียบเคียงกับคดีดังแชร์ลูกโซ่ก็พัวพันคลิปนักร้องเรื่องตบทรัพย์หรือไม่ แต่บัตรสนเท่ห์ไร้ตัวตนคนร้องยิ่งมาตรฐานต่ำกว่านักร้องอีก ถ้าสมมติมีบัตรสนเท่ห์มาแบบเดียวกัน เลขาฯ กกต.จะหยิบขึ้นมาตั้งแท่นสอบตัวเองหรือเปล่า บัตรสนเท่ห์จะเต็มบ้านเต็มเมือง รู้ทัน สร้างชนักปักหลัง บีบอำนาจบริหาร เรียกว่าใช้นิติสงครามโดยกลไกของเผด็จการสืบทอดอำนาจมาจัดการกับฝ่ายที่ประชาชนเลือกมาบริหารบ้านเมือง

ต้องขีดเส้นใต้จากความเห็นของวิโรจน์ และมันเข้ากับสถานการณ์ของเทวดาจากคดีดิไอคอนก็คือ การยื่นร้องสารพัดต่อฝ่ายรัฐบาลนั้น มันจะมีระบบชนักปักหลัง เพื่อไปบีบไปต่อรองหรือไม่ แทนที่ผู้ที่ถูกเลือกมาจะมาทำงานรับใช้ประชาชน กลับถูกบัตรสนเท่ห์ นักร้อง และเทวดาที่อยู่หลังม่าน หยิบยกกลไกต่าง ๆ มาบีบให้อำนาจฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้ แบบนี้ไม่ต้องตอบโจทย์ประชาชนแล้ว ไปตอบโจทย์พวกเทวดาที่ใช้นักร้องมาเป็นเครื่องมือทำลายอำนาจประชาชน อย่างนี้จะเรียกว่า เทวดาธิปไตย หรือเปล่า

สอดคล้องกับ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีสำนักนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาล ชี้ว่า กกต.ควรเอาเวลาไปใส่ใจกับการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตจะดีกว่า ให้ดูประวัติศาสตร์ อย่าให้การเมืองมีปัญหาจนฉุดรั้งความเจริญของบ้านเมืองเหมือนในห้วงเวลาที่ผ่านมา กฎหมายที่จะนำมาใช้ต้องรอบคอบ ไม่ใช่ใช้กระบวนการพิจารณาและตีความที่ผิดธรรมชาติการเมือง ส่วนใหญ่กฎหมายพวกนี้มีปัญหาทางปฏิบัติตลอดมา ก็เพราะกฎหมายมันมีปัญหานี่เอง จึงเป็นเครื่องมือของพวกที่ไม่มีปัญญาจะชนะใจประชาชน ใช้เล่นงานฝ่ายการเมืองที่ตั้งใจจะมาช่วยแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชน พวกนี้นี่แหละคือตัวถ่วงความเจริญ

อรชุน

Back to top button