‘อิตาลี’ เผชิญงบประมาณเปราะบาง.!

ธนาคารแห่งชาติอิตาลี รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจอิตาลีช่วง 3 ปีระหว่างปี 2567-2569 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2567 จะเติบโต 0.6%


ธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจอิตาลีช่วง 3 ปีระหว่างปี 2567-2569 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2567 จะเติบโต 0.6% ปี 2568 จะเติบโต 1%  และปี 2569 จะเติบโต  1.2% โดยปี 2567 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 1.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 1.7% ช่วงปี 2568 และปี 2569

“จอเจียร์ เมโลนี” นายกรัฐมนตรีอิตาลี ระบุหลังจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติแผนงบประมาณช่วง 3 ปี (ช่วงปี 2567-2569) ว่ารัฐบาลวางแผนรวบรวมเงินจำนวน 3,500 ล้านยูโร (3,810 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากธนาคารและผู้ให้ประกันภายในประเทศ

โดยงบประมาณดังกล่าว..น่าจะเพียงพอสำหรับบริการสาธารณสุขและช่วยเหลือเยียวยาผู้ด้อยโอกาส..!!

ขณะที่ทางการอิตาลี ระบุว่า การจัดเก็บภาษีจากภาคการเงิน จะมาจากการเก็บภาษีตราสารสิทธิการซื้อขายหุ้นสำหรับผู้จัดการ และมาตรการสำหรับการลดหย่อนภาษีของธนาคาร ที่มาจากการขาดทุนในอดีต หรือเรียกว่า “สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (DTA)”

ทั้งนี้ธนาคารและบริษัทประกันใหญ่สุดในอิตาลี คือ Intesa Sanpaolo, UniCredit, Banco BPM, Monte dei Paschi di Siena, และ Generali

“กรมธนารักษ์อิตาลี” ระบุผ่านแถลงการณ์ว่างบประมาณสำหรับปี พ.ศ. 2568 จะรวมถึงงบประมาณสำหรับนโยบายมูลค่า 30,000 ล้านยูโรด้วย โดยหลักจะเป็นนโยบายการตัดภาษีรายได้ถาวรและโครงการช่วยเหลือสังคมสำหรับบุคคลรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

ขณะที่รัฐบาลกรุงโรม แถลงว่า งบประมาณขาดดุลปีหน้าจะเพิ่มเป็น 3.3% ของ GDP จากที่คาดการณ์ไว้ตามแนวโน้มปัจจุบัน 2.9% โดยรัฐบาลมีแผนกู้ยืมเงิน 9,000 ล้านยูโร เพื่อนำมาใช้ตามนโยบายนี้

อย่างไรก็ดีรัฐบาลไม่ได้เผยรายละเอียดสำหรับการจัดหางบประมาณปี พ.ศ. 2568 แถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกรมธนารักษ์ มีการอ้างถึงการหารือเรื่องแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และรวมถึงแผนรวบรวมเงินจากธนาคารและบริษัทประกันด้วย

ขณะเดียวกัน “ข่าวลือว่าด้วยเรื่องเงินเรี่ยไรจากธนาคาร” เกิดการแพร่กระจายมาเป็นเวลานับสัปดาห์และสร้างแรงกดดันให้กับหุ้นของผู้ปล่อยกู้ เนื่องจากขาดความชัดเจนจากทางรัฐบาล

ทำให้ “จันคาร์โล จอเจตตี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอิตาลี ออกความเห็นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ไม่ควรมองว่าการจัดเก็บภาษีจากธนาคารเป็นเรื่องน่ารังเกียจ”

ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลี ได้สร้างความตกใจให้กับตลาด ด้วยการตั้งภาษีลาภลอยกับธนาคารไว้ระดับ 40% แต่หลังจากนั้นก็ถอยมาตรการ เหลือเป็นเพียงการลดขอบเขตของภาษีลง และเปิดโอกาสให้ผู้ปล่อยกู้ถอนตัวออกจากมาตรการ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเรี่ยไรเงินได้เลย..

สำหรับอิตาลี” เป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การจับตามองจากสหภาพยุโรป หลังเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณถึง 7.2% ของ GDP ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา สูงกว่าเพดานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ระดับ 3% และถือเป็นตัวเลขสูงสุดในยูโรโซน

ที่สำคัญ “หนี้สาธารณะของอิตาลี” อยู่ในระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในยูโรโซน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจาก 134.8% ช่วงปี 2566 ไปสู่ระดับ 137.8% ของ GDP ปี 2569

นั่นทำให้..นับจากนี้ “อิตาลี” กำลังเผชิญกับ “งบประมาณ” อันเปราะบางอย่างยิ่ง..!!??

Back to top button