ทิศทางประเทศไทย..ใน BRICS Summit 2024
การประชุมสุดยอด BRICS Summit 2024 ถือเป็นการประชุมสุดยอดประจำปี ครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่จัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย
การประชุมสุดยอด BRICS Summit 2024 ถือเป็นการประชุมสุดยอดประจำปี ครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่จัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค. 2567 ถือเป็นการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งแรก ที่มีประเทศอียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เข้าร่วม นับตั้งแต่เข้าร่วมองค์กรการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 15 ที่ผ่านมา
โดย “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่ม BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Leaders’ Meeting of the BRICS Member Countries in the Outreach/BRICS Plus Format) หรือ BRICS Plus Summit ตามคำเชิญของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
สำหรับไฮไลต์ BRICS Summit ครั้งนี้น่าจับตากรณี “รัสเซีย” มีความพยายามผลักดันการสร้างระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ไม่ต้องพึ่งพาตะวันตก เพื่อลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ตะวันตกกำหนดต่อรัสเซีย โดยงานนี้ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย จะได้พบกับ “ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สองผู้นำให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกสำหรับวิกฤตในยูเครน
พร้อมทั้ง “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย เข้าร่วมประชุมพร้อมกับการแสดงจุดยืนร่วมกัน
โดยวันที่ 28 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทั้งจากการขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิก BRICS โดยเฉพาะด้านการค้า, การลงทุน, การเงิน ความมั่นคงอาหารและความมั่นคงพลังงาน
รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของไทย ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการเชิงรุกของไทย ตามกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น อาเซียน (ASEAN), กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC), ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC), กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD), สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA) และกลุ่ม G77 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ 77 ประเทศ)
กลุ่ม BRICS คือการรวมตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ ชื่อ BRICS มาจากตัวอักษรย่อของชื่อประเทศดังกล่าว โดยก่อตั้งขึ้นครั้งแรกปี 2544 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมระดับโลก เพื่อสร้างความสมดุลการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และแสวงหาทางเลือกใหม่ในการชำระเงินระหว่างประเทศ ที่ไม่ต้องพึ่งพาการเงินและนโยบายประเทศกลุ่มตะวันตก เช่น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินยูโร
ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองได้ดีขึ้น และลดความผันผวนจากการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเกณฑ์กลางในตลาดการค้าโลกและหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก..!!
ปัจจุบันสมาชิก BRICS ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ มีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจโลก โดยเป็นตัวแทนของประชากรโลกเกือบ 45% และมีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจประมาณ 35% ของโลกตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่คาดว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ BRICS จะขยายบทบาทเพิ่มขึ้นเป็น 37%
จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง BRICS กลายเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ ที่น่าจับตามองทั่วโลก ทำให้หลายประเทศทั่วทุกทวีป รวมถึงไทย เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย ต่างให้ความสนใจและยื่นขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก พร้อมเปิดโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนมากยิ่งขึ้น และการที่รัฐบาลไทยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลถึงอนาคตของประเทศ
สุภชัย ปกป้อง