พาราสาวะถี
เป็นไปตามคาด “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียก 3 หน่วยงาน ดีเอสไอ และ ปปง. ถกคดีดิไอคอน กรุ๊ป
เป็นไปตามคาด “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียก 3 หน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ถกคดีดิไอคอน กรุ๊ป เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล มีบทสรุปชัดเจนว่า คดีนี้เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเป็นคดีพิเศษเพราะมีมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 300 ล้านบาท วันนี้ (28 ตุลาคม) ทางตำรวจจะส่งสำนวนการสอบสวนในคดีทั้งหมดให้กับดีเอสไอรับไม้ต่อ
ขณะที่ ปปง.ยังคงดูแลเรื่องการยึดทรัพย์ต่าง ๆ ตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านการทำคดีจากตำรวจไปสู่มือดีเอสไอนั้น ก็เป็นเรื่องกระบวนการทางกฎหมาย แต่ทั้ง 3 หน่วยงานยังคงต้องประสานความร่วมมือกันต่อไป ทั้งนี้ บิ๊กอ้วนยืนยัน หากติดขัดอะไรทางฝ่ายการเมืองพร้อมที่จะเข้าไปช่วย ในแง่ของการทำงานคงไม่มีอะไรสะดุด เพราะคดีนี้ดีเอสไอก็ทำงานคู่ขนานกับตำรวจมาอยู่แล้ว ส่วนหลังจากรับเป็นคดีพิเศษแล้ว การทำงานจะเร็วขึ้นหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม
ทั้งนี้ พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยืนยันว่า หลังจากที่ส่งคดีต่อให้กับดีเอสไอเป็นเจ้าภาพแล้ว ตำรวจจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยดีเอสไออีกที ต้องไปหารือกัน ที่น่าสนใจ คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ถูกจับตามองเรื่องการออกหมายจับล็อตสอง ที่ทางตำรวจได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้า หลังจากนี้จะยังคงดำเนินการต่อหรือไม่ วันนี้จะมีการแถลงข่าวร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน โดยเฉพาะดีเอสไอ น่าจะได้คำตอบว่าขั้นตอนการทำงานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
สำหรับตัวเลขผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายนั้น ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปก.ตร. สรุปข้อมูลการรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดี ดิ ไอคอน กรุ๊ป จากศูนย์รับแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจภูธรจังหวัดและกองบังคับการตำรวจนครบาล ยอดรวมผู้เสียหายที่เข้าให้ปากคำกับศูนย์รับแจ้งความร้องทุกข์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 9,212 ราย มูลค่าความเสียหาย 2,839 ล้านบาทเศษ คดีใหญ่แบบนี้น่าจะยังมีอะไรเด็ด ๆ ให้ได้ฮือฮากันต่อเนื่อง
ผ่านพ้นวันที่ 25 ตุลาคมไปแล้ว เป็นอันว่าคดีตากใบได้หมดอายุความลงตามกฎหมาย เหลือแค่ขั้นตอนทางศาลที่จะยืนยันการสิ้นสุดของคดีเท่านั้น แน่นอนว่า แง่ความรับผิดชอบของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงข่าวขอโทษไปแล้ว ซึ่งถือเป็นท่าทีที่อย่างน้อยก็ได้สร้างความพึงพอใจต่อญาติและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการศึกษาจากบทเรียนหนนี้ รวมไปถึงข้อเสนอที่จะให้มีการออกกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิตไม่มีอายุความนั้น ก็ว่ากันตามครรลองของสภา
ความจริงกรณีนี้เกิดขึ้นมา 20 ปี เป็นไปอย่างที่ภูมิธรรมในฐานะผู้จัดการรัฐบาลตั้งคำถาม ถ้าคดีต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน กระบวนการที่จะดำเนินการต่าง ๆ จะดีกว่านี้ ไม่ใช่เพิ่งมาเรียกร้องเอาช่วงสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงที่คดีกำลังถึงที่สุด โดยธรรมชาติไม่มีใครจะยอมขึ้นศาล ถูกต้องตามที่บิ๊กอ้วนว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด แต่เป็นช่องว่างทางกฎหมาย การมาเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือรัฐบาลต้องจัดการตามตัวเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้นั้น มันเกิดความยากลำบาก อาจโจมตีกันหนักเพราะ 1 ในผู้ที่ถูกออกหมายจับเป็นอดีต สส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเท่านั้นเอง
เช่นเดียวกับความจริงที่ว่า ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงมีอยู่ การหมดอายุความของคดีตากใบไม่ได้เป็นชนวนหรือเชื้อไฟที่จะทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะตราบใดที่การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหายังไม่บรรลุผล สถานการณ์ความรุนแรง การก่อเหตุก่อกวนก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อไป เหนือสิ่งอื่นใดคือ ไม่ควรที่จะหยิบยกเอาประเด็นลักษณะนี้ ไปเพื่อหวังผลทางการเมืองในพื้นที่ เพียงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การจะแก้ปัญหาต้องสังคายนากันหลายด้าน
หากเข้าใจความเป็นไปกันอย่างถ่องแท้ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่บิ๊กอ้วนสื่อสารมานั้นคือข้อเท็จจริง เรื่องนี้เป็นความมั่นคงของรัฐไทย ต้องคำนึงถึงรัฐไทย ไม่ใช่รัฐบาลไทย เพราะถ้าจะพูดกันจริง ๆ รัฐบาลไทยมีมาหลายชุดแล้ว แต่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งข้อคำถามหรือไล่บี้ในคดีตากใบ เหมือนที่เร่งรัด เรียกร้องเอากับรัฐบาลแพทองธาร จากนี้ไปกรณีดังกล่าวควรที่จะถูกหยิบยกไปถกเถียง และหาทางแก้ไขบนเวทีของทุกฝ่าย ไม่ใช่ใช้ประเด็นนี้มาเคลื่อนไหวทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้มีการพิจารณาญัตติด่วนต่อเรื่องนี้ไปแล้ว ให้ทุกฝ่ายได้ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ ถือว่าได้ระบายความอัดอั้น และ สส.ในพื้นที่ได้แสดงความตั้งใจต่อการติดตาม เรียกร้อง เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบแล้ว คงไม่มีอะไรที่จะต้องค้างคาใจกันอีก งานในสภาที่เป็นโจทย์ใหญ่ให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องไปทำความเข้าใจกันให้ดี คงหนีไม่พ้นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม
แม้ว่าที่ประชุมจะลงมติไม่รับข้อสังเกตของของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน โดย สส.ของพรรคแกนนำเองถึง 115 คนที่โหวตไม่รับ ก็ไม่ได้ทำให้มือกฎหมายคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยเสียความรู้สึกหรือคิดว่าเสียหน้า แต่กลับมองถึงการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าว่า ยังไงก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถกกันเรื่องนิรโทษกรรม และปมยกเว้นความผิดกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
เพราะมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง เป็นของพรรคการเมือง 3 พรรคคือ รวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกลเดิม และพรรคครูไทย และของภาคประชาชน 1 ร่าง เตรียมที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องไปถกเถียงกันว่าสุดท้ายจะเอาอย่างไร เปิดสมัยประชุมมาสื่อคงได้ทำข่าวกันอีกมากพอสมควร ซึ่งชูศักดิ์ชี้ว่าทั้ง 4 ร่างคือของจริงที่ต้องเคาะกันให้จบ ดังนั้น หนนี้ตนจึงไม่ได้เข็ดอะไร ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร อย่างน้อยก็มีเวลาพักหายใจหายคอกัน แกนนำพรรคร่วมจะได้ใช้เวลาในฝ่ายบริหารตุนผลงานเอาไว้ก่อน ส่วนเรื่องร้อนแบบนี้ค่อยหาจังหวะคุยกันอีกที
อรชุน